เมื่อ ‘นิทาน’ โลกแห่งจินตนาการ เรื่องราว สีสัน และภาพวาด เป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังที่จะปลูกฝัง กล่อมเกลา และสอนสั่งให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการศึกษาหาความรู้ประดับปัญญา อุทยานการเรียนรู้ TK park ในฐานะต้นแบบห้องสมุดแห่งการเรียนรู้ จึงจัดโครงการ “นิทานกับกิจกรรม” เพื่อส่งต่อแนวคิดการนำนิทานไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่ ‘สนุก’ แต่ต้องหวังผลได้ จัดติวเข้มให้ครูบรรณารักษ์ และบุคลากรเครือข่ายจากพื้นที่เครือข่ายภาคตะวันออก กว่า 29 คน และเยาวชนชั้นอนุบาลและระดับประถมศึกษาตอนต้นกว่า 76 คน เข้าร่วมกิจกรรมแบบเข้มข้น ณ อุทยานการเรียนรู้ตราด จังหวัดตราด
คุณพรผกา อังกูรสุทธิพันธ์ นักจัดการความรู้อาวุโส ของอุทยานการเรียนรู้ TK park หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ “หนังสือกับการสร้างสรรค์กิจกรรม” เผยถึงที่มาว่า “เรามองว่านิทานคือเครื่องมือที่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด เป็นวิธีแรกสุดที่จะทำให้เขาได้รู้จักโลกและสังคมรอบตัว นั่นก็คือจากเรื่องราวของตัวละครในนิทาน และเพราะ ‘นิทาน’ คือความสนุก เด็กๆ จึงชอบที่จะฟัง และพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ง่าย เราจึงสามารถเสริมเติมสิ่งที่เราต้องการให้เขาเรียนรู้ได้ผ่านตัวกลางอย่างนิทาน โดยโครงการนี้ต้องการที่จะเปิดมุมมอง เพิ่มประสบการณ์ และแนะนำการออกแบบกิจกรรมให้แก่ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อจะร่วมกันเสริมทักษะการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัยและเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนต้นให้ดียิ่งขึ้น โดยในโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิคการเล่า – เลือกนิทานที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และเทคนิคการเล่านิทานในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น การนำนิทานมาเล่าในรูปแบบละครเวที เด็กๆ จะได้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับการร่วมแสดงเป็นตัวละครบนเวที ซึ่งจะเพิ่มอรรถรสในการรับชม เสริมทักษะความกล้าแสดงออก ฝึกจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ และยังทำให้พวกเขาเข้าถึงเรื่องราวในนิทานได้มากขึ้น
โดยการอบรมครั้งนี้ไม่ได้ให้แค่แนวทางการเลือกถึงการเล่านิทานในรูปแบบต่างๆ แต่เป็นโครงการที่จุดประกายให้ครูมีจุดมุ่งหมายในการทำสื่อการเรียนรู้ให้เด็กๆ เมื่อก่อนการเล่านิทานเพื่อสร้างความสนุกให้เด็กๆ หยิบมาหนึ่งเล่มและเล่าไปโดยที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการเล่า แต่กิจกรรมนี้จะส่งเสริมให้ครูต้องคิดตาม มองนิทานในรูปแบบใหม่ ทั้งวัตถุประสงค์ของผู้เขียนและยังให้ประยุกต์เรื่องราว เพื่อสอดแทรกเนื้อหา ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ อาทิ เรื่องของวิทยาศาสตร์ สังคม ศิลปะ ต่อยอดวิธีการได้อีกหลายแบบ และไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนด้านอุปกรณ์ เพียงใช้ร่างกาย การเคลื่อนไหว แม้แต่นิ้วมือ ก็สามารถเป็นอุปกรณ์ในการเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวนิทานได้
ด้านครูรัก-รักชนก ตันตระกูล ครูชำนาญการ โรงเรียนชุมชนบ้านเขาสมิง ที่เข้ารับการอบรมได้กล่าวเสริมว่า “ เด็กๆ จะมีความสุขมากเวลาได้นั่งฟังนิทาน ทั้งยังชอบที่จะได้จินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวละครในนิทาน ครูมองว่านิทานเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสมอง ฝึกการแยกแยะ เรียนรู้การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และยังเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์”
นอกจากนี้ ครูหญิง-ภรกัญ รัตนปัญญากร ครูชำนาญการ โรงเรียนชุมชนวัดท่าพริก (จริยาอุปถัมภ์) กล่าวเสริมอีกว่า “ครูว่านิทานเป็นเครื่องมือที่ละเอียดอ่อน สามารถใช้ปรับพฤติกรรมของเด็ก และถึงแม้จะเป็นเด็กเล็ก แต่เขาก็จะเรียนรู้ได้ว่าพฤติกรรม การแสดงออกใดเหมาะสม ถูกผิด ผ่านเรื่องราวของตัวละครในนิทาน ในสองสามครั้งแรก มันอาจจะยังไม่เห็นผล แต่พอเล่าให้ฟังซ้ำๆ ในประเด็นเดิม เขาจะเริ่มรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันไม่ถูกต้อง อย่างการแกล้งเพื่อน เราจะถามเขาหลังฟังนิทานจบว่า เอ๊ะ ทำไมเพื่อนๆ สัตว์ ถึงไม่ชอบเจ้ากระต่ายนะ ..ก็เพราะมันชอบแกล้งเพื่อน หรือทำยังไงกุ๊งกิ๊งถึงจะหายหัวเหม็นนะ เพราะหัวเหม็นแล้วเพื่อนรังเกียจ ..ก็แค่สระผม อาบน้ำให้สะอาด เด็กๆ จะซึมซับพฤติกรรม วิธีการอยู่ร่วมกันในสังคมผ่านเรื่องราวที่เขาได้เรียนรู้ และต่อไปเมื่อเขาเจอสถานการณ์จริง เขาก็จะมีตัวอย่าง หรือแบบในหัวให้ตัวเองเลือกที่จะปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ต้องขอบคุณ TK park ที่มาเปิดประสบการณ์ให้กับคุณครูในท้องที่ห่างไกล มาปลุกไฟที่ค่อยๆ ดับไปพร้อมกับเวลา และภาระงาน พอเราได้เห็นความทุ่มเท ความตั้งใจในการมาส่งต่อของผู้จัดอบรม มันเหมือนกับเราได้ถูกกระตุ้นว่า ฉันก็สามารถทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้ได้นะ ฉันทำอะไรได้มากกว่าที่เคยทำมา และเราก็มีความมั่นใจมากขึ้นจากการมาอบรม” ครูหญิงกล่าว
และ ปรัชญาพร พัฒนผล นักจัดการความรู้ ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายของอุทยานการเรียนรู้ TK park ยังกล่าวปิดท้ายถึงความคาดหวังที่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับว่า “สิ่งที่เราคาดหวังจากโครงการนี้ก็คือ การที่คุณครู และบุคลากรทางด้านการศึกษาในเด็กปฐมวัย และเยาวชนในระดับประถมศึกษา จะได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปต่อยอดเพื่อออกแบบสร้างสรรค์กิจกรรมจากนิทาน และไม่ใช่แค่จากนิทานที่ถูกตีพิมพ์จากนักเขียน เรายังต้องการให้คุณครูนำความรู้ในชุมชน ภูมิปัญญาของท้องถิ่น วัฒนธรรมและเรื่องราวรอบตัวเด็กๆ ได้ถูกเล่าในรูปแบบของนิทาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ อย่างมาก เพราะเขาจะได้รู้จักตัวเอง ถิ่นที่อยู่ของตนได้ดีขึ้น อย่างการมาจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เราก็ได้นำสัตว์น้ำในท้องถิ่นมาเล่าในรูปแบบของนิทาน มีฉากเป็นป่าโกงกางที่ใกล้ตัว นั่นยิ่งทำให้เด็กๆ เข้าถึง และเรียนรู้ได้สนุกมากยิ่งขึ้น”