"บุญรักษ์"แจงแนวทางแก้ปัญหาขาดครูอาชีวะ พร้อมหนุนรื้อเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะทั้งระบบ
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสัมมนามอบนโยบายผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ จังหวัดสุโขทัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้พูดถึงปัญหาการขาดแคนบุคลากรครูสายผู้สอนของวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ในภาพรวม ซึ่งถือว่าขาดแคลนอย่างมาก เนื่องจากตามเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ควรมีอัตรากำลัง 30,000 กว่าคน แต่ในทางปฏิบัติขณะนี้วิทยาลัยสังกัด สอศ.ทั่วประเทศมีครูเพียง 10,000 กว่าคน ซึ่งขาดถึง 200% หรือ 20,000 กว่าคน แต่ก็ต้องชื่นชมว่า สถานศึกษาได้แก้ปัญหาโดยการใช้เงินอุดหนุนรายหัวที่มีอยู่มาจ้างบุคลากร ซึ่งจากการสำรวจในปีล่าสุดมีการใช้เงินเพื่อการจ้างบุคลากรถึงปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้หากไม่ได้ใช้ในการจ้างบุคลากรที่ขาดแคน จะถูกนำ ไปใช้ในกิจกรรมฝึก เรียน สอน สอบ ซื้อวัสดุ สื่อ เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ ในการสอนเด็กได้ ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แม้จะไม่สร้างความเดือดร้อน แต่ก็ชะลอความคืบหน้าในการพัฒนาของอาชีวะเป็นอย่างมาก
“เหตุผลที่ทำให้ขาดแคนบุคลากรจำนวนมาก เนื่องจาก สอศ.ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลิตกำลังคนป้อนภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์ให้นักเรียนที่จบ ม.ต้น และ ม.ปลาย เข้าเรียนต่ออาชีวศึกษามากขึ้น ซึ่งก็สามารถทำได้มากขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เมื่อมีนโยบายเช่นนี้ความต้องการครูก็เพิ่มขึ้นตาม แต่ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้งบประมาณจากรัฐในการเพิ่มอัตรากำลังได้ ผมจึงได้ประสานกับ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดย ดร.สุเทพ ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการ กอศ.มาก่อนทราบปัญหานี้ดี และได้ตอบรับในการตัดโอนอัตรากำลังของสพฐ. ที่ไม่สามารถใช้ได้ ด้วยข้อจำกัดตามเกณฑ์ที่ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนด คือ ไม่คืนอัตราเกษียณให้โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่ง สอศ.ได้ขอตัดโอนอัตรากำลังดังกล่าวมา และ ดร.สุเทพก็ได้ตอบรับในหลักการแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงกระบวนการที่จะนำเสนอ ก.ค.ศ. และ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการต่อไป”เลขาธิการ กอศ.กล่าว
ดร.บุญรักษ์ กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องที่ได้คุยกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา คือ เรื่องวิธีการประเมินวิทยฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่ควรมีเกณฑ์พิเศษในการประเมิน โดย สอศ.ได้ส่งเรื่องไปยัง ก.ค.ศ.ขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการประเมินผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาตามสภาพงานจริง ซึ่งในการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งล่าสุดได้มีการอภิปรายการประเมินวิทยฐานะทั้งระบบ โดยที่ประชุมส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่า ควรต้องจัดระบบการประเมินวิทยฐานะของครูและบุคลากรและผู้บริหารสถานศึกษารวมถึงผู้บริหารการศึกษากันใหม่ทั้งระบบ โดยไปดูว่าแต่ละภาระงาน แต่ละลักษณะงานของแต่ละตำแหน่งควรจะประเมินด้วยวิธีใด ครูช่างประเมินอย่างไร ครูนาฏศิลป์ประเมินอย่างไร ครูที่เป็นศิลปินประเมินอย่างไร ครูผู้สอนภาคปฎิบัติประเมินอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับครูทั่วประเทศ เพราะ รมว.ศึกษาธิการไปรับฟังมาจากครูทั่วประเทศและได้มอบให้ ก.ค.ศ.ไปหาคณะทำงานรวบรวมกรอบแนวคิดจากผู้ที่มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องว่า ลักษณะงานเป็นอย่างไรบ้าง แล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2562