จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( นายณัฏพล ทีปสุวรรณ) ฉบับท่ี 2
เรื่อง นโยบายด้านการศึกษา
กราบเรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( นายณัฏพล ทีปสุวรรณ)
ตามที่ ฯพณฯ ได้กรุณาให้นโยบายด้านการศึกษาในหลายๆประเด็นเช่น
- จะขับเคลื่อนการศึกษาในโลกยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยี
- หลักสูตรต้องมีสาระ มีประโยชน์และวัดได้
- ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู ต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง
- ลดภาระครู ให้ครูอยู่กับเด็ก อยู่ห้องเรียน
- ต้องพัฒนาภาษาอังกฤษให้ครู ภายใน 3 ปี ครูต้องพูดภาษาอังกฤษ ได้
- ปัญหาการทับซ้อนของ "องค์กรภายในจังหวัด" ต้องแก้ปัญหาอย่างรีบด่วนเพราะจะกระทบต่อประสิทธิภาพ
- จะไม่ยึดเพียงตัวเลขมา "ควบรวม รร.ขนาดเล็ก" แต่จะทำอย่างไรให้ รร.มีประสิทธิภาพ ครูมีคุณภาพและประชาชนได้ประโยชน์ที่สุด
- การเพิ่ม สพม.ให้ครบทุกจังหวัด คงต้องปรึกษาผู้บริหารองค์กรหลักในการดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นอีกหลายประเด็นนั้น
สมาคมฯขอเรียนว่าแนวคิดและนโยบายของ ฯพณฯ นั้นเป็นนโยบายที่บรรดานักการศึกษาต่างชื่นชมว่าท่านมีวิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาของชาติบ้านเมือง อย่างไรก็ตามสมาคมมีประเด็นที่จะขอกราบเรียนเสนอเพื่อกรุณาทราบ ดังนี้
1. ตามที่ ฯพณฯ เห็นว่าปัญหาการทับซ้อนของ "องค์กรภายในจังหวัด" ต้องแก้ปัญหาอย่างรีบด่วนเพราะจะกระทบต่อประสิทธิภาพ โดยฯพณฯ เห็นว่าจะต้องให้มีการยุติความซ้ำซ้อนระหว่าง ศธภ/ศธจ และเขตพื้นที่การศึกษา นอกจากนี้ยังปรากฎเป็นข่าวอีกว่า "ศธภ. และ ศธจ. ที่เกิดขึ้นตามคำสั่ง คสช. เนื่องมาจากต้องการแก้ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก การเรียกรับเงินกรณีโยกย้ายข้าราชการครู โดยก่อนหน้านี้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.ในพื้นที่) ซึ่งมีการกล่าวกันว่าอัตราค่าโยกย้ายครูที่ต้องการย้ายไปยังพื้นท่ีท่ีต้องการ คิดอัตราเป็นกิโลเมตร" นั้น ขอเรียนว่าปัญหาที่แท้จริงในการกำหนดให้มี ศธจ./ศธภ. นั้น มิใช่มีต้นเหตุมาจากการทุจริตของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาแต่อย่างใด แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดจากการที่ข้าราชการระดับสูงของของกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูและผู้อำนวยการโรงเรียน เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งนี้อำนาจตามกฎหมายในการแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหารโรงเรียนนั้นเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งประธานและอนุกรรมการหลายท่านมิได้อยู่ในระบบราชการ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลางจึงไม่สามารถใช้อำนาจในการกดดันให้เป็นไปตามความต้องการได้ ในที่สุดจึงมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และปลดผู้แทนครูใน ก.ค.ศ. ทุกราย การอ้างว่ามีการทุจริตจึงต้องยุบ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา จึงเป็นเพียงเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมในการยุบ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เท่านั้น การกำหนดให้มี กศจ. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และคณะกรรมการหลายรายก็ส่งมาจากส่วนกลาง ก็เพื่อเอื้อต่อการใช้อำนาจที่เหนือกว่าสามารถสั่งการให้เป็นไปตามประสงค์ของผู้มีอำนาจได้ง่าย จริงอยู่ว่าอาจมีข้อมูลการเรียกรับผลประโยชน์ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย โดย อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาอยู่บ้าง แต่ข้อมูลที่ปรากฎก็เป็นเพียงข่าวและเป็นส่วนน้อย และนับแต่รัฐบาล คสช. บริหารประเทศมาเป็นเวลา 5 ปี ก็ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้สักรายทั้งๆที่รัฐบาลมีอำนาจล้นฟ้า การมี กศจ. ก็มิได้หมายความว่าปัญหาเรื่องทุจริตหมดไป เพราะมิได้แก้ปัญหาที่ระบบ การแก้ปัญหาเป็นเพียงเปลี่ยนตัวกลุ่มบุคคลเท่านั้น ส่วนการกล่าวอ้างว่า ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทุจริตเรื่องย้าย จนต้องมีการตัดอำนาจการบริหารงานบุคคลไปเป็นอำนาจของ ศธจ./ศธภ. นั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยขาดเหตุผล เพราะ บทบาทของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา นั้น ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายแต่อย่างใด การตั้ง ศธจ./ศธภ. มาคุมครูในแต่ละจังหวัดก็เป็นรูปแบบการบริหารแบบ Single Command โดยที่ รมว.ศธ. สามารถสั่งการไปที่ปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวง สั่งการไปที่ ศธจ. และ ศธจ. ก็สามารถใช้อำนาจสั่งการไปที่ข้าราชการครู ในจังหวัดนั้นๆได้
2. กรณีที่ ฯพณฯ เห็นว่า "การเพิ่ม สพม.ให้ครบทุกจังหวัด คงต้องปรึกษาผู้บริหารองค์กรหลักในการดำเนินการ" นั้น ขอเรียนว่าการขอเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาให้ครบทุกจังหวัดนั้นมาจากเหตุผลความจำเป็นกล่าวคือปัจจุบันมีเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาจำนวน 42 เขต ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาต้องดูแลรับผิดชอบจัดการศึกษาหลายจังหวัด สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกันกับที่ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่ย่อมได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการและได้รับโอกาสทางการศึกษามากกว่าสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่ เช่น นักเรียน/ครู/ผู้ปกครอง ที่อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากประสงค์จะติดต่อราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ก็จะต้องเดินทางข้ามภูเขาไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น และมีเหตุการณ์เช่นนี้อีกหลายจังหวัด รวมถึงการให้บริการทางการศึกษาต่อสถานศึกษาที่อยู่คนละจังหวัดแต่อยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน ก็ได้รับบริการที่ต่างกันสาเหตุเนื่องจากระยะทางที่ต่างกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯได้เคยยื่นเรื่องถึง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ยื่นเรื่องถึง อดีต รมว.ศธ. (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) เพื่อกรุณาทราบปัญหาและขอให้แก้ปัญหาด้วยการประกาศเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ครบทุกจังหวัด รมว.ศธ. เห็นด้วยและได้สั่งการให้นำเรื่องเสนอสภาการศึกษาเพื่อพิจารณา ในที่สุดสภาการศึกษาเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเขตจังหวัดทุกจังหวัด ประกอบกับ สพฐ. ได้รายงานให้สภาการศึกษา ทราบว่าการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเป็นเขตจังหวัดนั้นไม่กระทบเรื่อง คน งบประมาณ และสถานที่ เพราะมีการเตรียมการไว้แล้ว สภาการศึกษาจึงมีมติให้เพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเป็นเขตจังหวัด แต่ปรากฎว่าผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกลับมิได้ดำเนินการเสนอเรื่องต่อ รมว.ศธ. เพื่อลงนาม ทั้งๆที่ตามกฎหมายแล้ว ต้องมีการประกาศเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเป็นเขตจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด การไม่ดำเนินการตามมติของสภาการศึกษาที่ยังมีผลบังคับใช้และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือทบทวนมติ จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าท่ีโดยมิชอบ ได้
จึงขอประทานกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)