รมว.ศึกษาธิการ มอบการบ้าน ก.ค.ศ.ทบทวนการบริหารงานซ้ำซ้อนในระดับพื้นที่ ชี้ เพื่อเติมเต็มโครงสร้างศธ.ในการบริหารอัตรากำลังบุคลากรครู และผู้บริหารโรงเรียน
วันนี้ (21 ส.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทยตามนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลเรื่องใดที่เป็นปัญหาจะต้องลดความซ้ำซ้อนลง ดังนั้นที่ประชุมจึงเป็นการทบทาวนสภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานบุคคล หลักเกณฑ์วิธีการสอบคัดเลือกบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมถึงการสอบครูผู้ช่วยกรณีต่างๆ ซึ่งได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทำการบ้านทบทวนดูว่าการบริหารงานเรื่องใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ เพื่อนำมาหารือในการประชุมก.ค.ศ.อีกครั้งประมาณต้นเดือนกันยายน
“ผมได้ชี้ประเด็นในเนื้องานของการขับเคลื่อนการศึกษาระดับพื้นที่ให้ที่ประชุมรับทราบว่ามีส่วนใดบ้างที่เป็นการทำงานซ้ำซ้อน เนื่องจากผมอยากลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการด้านการศึกษา เพื่อต้องการให้การบริหารงานของศธ.มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนบุคลากร ดังนั้นผมคิดว่าไม่น่าปรับแก้ไขยาก เพราะเรามีข้อมูลต่างๆไว้อยู่แล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อมีการลดความซ้ำซ้อนของการบริหารงานในระดับพื้นที่ลงได้จะทำให้เราเห็นภาพโครงสร้างศธ.ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ว่าโรงเรียนไหนขาดบุคลากรด้านอัตรากำลังผู้บริหาร ครู ครูธุรการ แม่บ้านภารโรงจริงๆบ้าง และในที่สุดหากมีความจำเป็นต้องควบรวมโรงเรียนบางส่วนเพื่อให้เราได้เพิ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพเราก็ต้องทำ เราจะไม่เติมบุคลากรเข้าไปทับซ้อนในโรงเรียนเพิ่มไปอีก แต่ทั้งนี้หลักการสำคัญของผมจะต้องไม่ริดรอนสิทธิครูหรือผู้บริหารในโอกาสการเจริญเติบโตในสายงานด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างประชุมบอร์ด ก.ค.ศ.ดังกล่าว ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าขณะนี้หน่วยงานของ ศธ.ในระดับภูมิภาค คือ ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีโครงสร้างในการทำงานที่ซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองงบฯ เพราะในช่วงที่ ศธ.เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มีการใช้มาตรา 44 ในการจัดตั้ง ศธจ.ได้แจ้งว่าเมื่อจัดตั้ง ศธจ.แล้ว จะไม่มี สพท.อีก แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังคงมี สพท.อยู่ จึงทำให้ถูกมองได้ว่ามีภารการทำงานระหว่าง ศธจ. และ สพท.ที่ซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้ ศธ.ยังมีตำแหน่งบริหารต้นเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มีตำแหน่งบริหารสูงมีน้อย ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาทบทวนในเรื่องเหล่านี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562