19ส.ค.62-“รมว.ศธ.” เล็งทบทวนบทบาท ศธภ.-ศธจ.อาจยุบ หลังเกิดปัญหาทำงานทับซ้อนกับ สพท. เตรียมหารือผู้เกี่ยวข้อง ยันถ้าเปลี่ยนแปลง จะไม่ให้กระทบโครงสร้างข้าราชการ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่นโยบายรัฐบาลต้องการให้กระทรวงต่างๆ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่ได้มีการปรับปรุงมานานกว่า 5 ปีนั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขณะนี้ตนกำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายของศธ.ว่ามีกฎหมายใดบ้างที่จะต้องมีการปรับปรุง โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ ซึ่งกฎหมายนี้ ตนรับทราบปัญหาการทำงานและเสียงสะท้อนระหว่างการมีศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ว่า เป็นการทำงานที่เกิดปัญหาระหว่าง 2 หน่วยงานในพื้นที่ โดยการทำงานจะเป็นในประเด็นของงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่นั้น ตนคิดว่าถ้ามีการรับฟังความคิดเห็นอยากรอบด้านและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ผลสรุปว่าการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. เป็นปัญหาอุปสรรคและเป็นการทำงานทับซ้อนกัน ตนจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม การจะปรับโครงสร้างในระดับพื้นที่ ตนยึดหลักหากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องไม่เกิดผลกระทบการเจริญเติบโตของข้าราชการ บุคลากรที่อยู่หน่วยงานเดิมจะไปอยู่ตรงไหนก็ต้องจัดสรรตำแหน่งลงให้เหมาะสม ซึ่งหากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงความเห็นว่าจะต้องยุติการทำงานที่ซ้ำซ้อนระหว่าง ศธจ. ศธภ.และ สพท.จริงก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพราะสำหรับตนสิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพการศึกษาต้องดีขึ้น
“ผมมีนโยบายชัดเจนว่าการทำงานอะไรก็ตามจะต้องไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนไม่เช่นนั้นจะสิ้นเปลืองงบประมาณ และส่งให้ประสิทธิภาพไม่เกิดขึ้น ซึ่งกฎหมายใดที่ซ้ำซ้อนผมต้องปรับปรุงแน่นอน ดังนั้นเรื่องกฎหมายการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ผมได้เรียกข้อมูลมาดูแล้วและมีแนวทางในใจแล้วว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้ขอหารือกับฝ่ายกฎหมายของ ศธ.ให้รอบคอบก่อน เนื่องจากเป็นกฎหมายบุคคลฉบับใหญ่ อีกทั้งหากมีการแก้ไขกฎหมายการบริหารงานบุคคลระดับพื้นที่ของ ศธ. ผมคิดว่าไม่น่าจะปรับแก้ไขเสร็จได้ทันในปีนี้” รมว.ศธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ศธจ.และศธภ. ที่เกิดตามคำสั่งคสช.เนื่องมาก ต้องการแก้ปัญหาการเล่นพรรค เล่นพวก การเรียกรีบเงินการโยกย้ายข้าราชการครู โดยก่อนหน้านี้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)ในพื้นที่ ซึ่งมีการกล่าวกันว่า อัตราค่าโยกย้ายของครู ที่ต้องการย้ายไปยังพื้นที่ ที่ต้องการคิดอัตราเป็นกิโลเมตร
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562
"ณัฎฐพล"จ่อรื้อโครงสร้างการศึกษาในภูมิภาค
“ณัฏฐพล”เผยโครงสร้างการศึกษาภูมิภาค มีปัญหาสั่งรื้อแน่ ย้ำคุณภาพการศึกษาต้องดีขึ้น คาดแก้ไขกฎหมายการบริหารงานบุคคลระดับพื้นที่เสร็จไม่ทันในปีนี้
วันนี้ (19ส.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นโยบายรัฐบาลต้องการให้กระทรวงต่างๆได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่ได้มีการปรับปรุงมานานกว่า 5 ปีนั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้ตนกำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายของศธ.ว่ามีกฎหมายใดบ้างที่จะต้องมีการปรับปรุง โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ ซึ่งกฎหมายนี้ตนรับทราบปัญหาการทำงานและได้รับเสียงสะท้อนระหว่างการมีศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ว่า เป็นการทำงานที่เกิดปัญหาระหว่างสองหน่วยงานในพื้นที่ โดยการทำงานจะเป็นในประเด็นของงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่นั้น ตนคิดว่าถ้ามีการรับฟังความคิดเห็นอยากรอบด้านและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสรุปว่าการปฎิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ.เป็นปัญหาอุปสรรคและเป็นการทำงานทับซ้อนกันจริงๆ ตนก็จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อย่างแน่นอน
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ตนมีนโยบายชัดเจนว่าการทำงานอะไรก็ตามจะต้องไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนไม่เช่นนั้นจะสิ้นเปลืองงบประมาณ และส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานไม่เกิดขึ้น ซึ่งกฎหมายใดที่ซ้ำซ้อนก็ต้องปรับปรุงแน่นอน ดังนั้นเรื่องกฎหมายการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ. ตนได้เรียกข้อมูลมาดูแล้วและก็มีแนวทางในใจแล้วด้วยว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้ขอหารือกับฝ่ายกฎหมายของศธ.ให้รอบคอบก่อน เนื่องจากเป็นกฎหมายบุคคลฉบับใหญ่ อีกทั้งการจะปรับโครงสร้างในระดับพื้นที่นั้น บุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานเดิมจะไปอยู่ตรงไหนก็ต้องจัดสรรตำแหน่งลงใหม่ให้เหมาะสมด้วย
“ผมจะยึดหลักหากเปลี่ยนแปลงจะต้องไม่เกิดผลกระทบกับการเจริญเติบโตของข้าราชการด้วย แต่หากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงความเห็นว่าจะต้องยุติการทำงานที่ซ้ำซ้อนระหว่างศธจ. ศธภ.และเขตพื้นที่จริงก็ต้องทำ เพราะสำหรับผมสิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพการศึกษาต้องดีขึ้น อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายการบริหารงานบุคคลระดับพื้นที่ของศธ.คิดว่าไม่น่าจะปรับแก้ได้ทันในปีนี้” รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562