ยื่น “ณัฐฏพล” แก้ พ.ร.บ.ศึกษาฯ-ขู่ฟ้องศาล รธน.
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่จัดทำโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และอดีตคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา (กปศ.) กล่าวว่า การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาปี 2542 มีงานวิจัยรองรับ 42 เรื่อง ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ควรดูว่ามีสิ่งใดที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิรูป ก็แก้ไขจุดนั้น เช่น ตอน สปศ. ไม่มีการกำหนดหน่วยงานที่ติดตามผลการปฏิรูปการศึกษา ทำให้การศึกษาอ่อนยวบ แต่ฉบับนี้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งตนเห็นด้วย แต่มีหลายเรื่องที่เราโยนให้กรรมการชุดนี้ตัดสินใจ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมากเกินไปหรือไม่ ขณะที่บางเรื่องที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็ไม่ควรปรับเปลี่ยน เช่น การเปลี่ยนตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่ และการเปลี่ยนการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นใบรับรองความเป็นครู เป็นต้น ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การพัฒนาครูของครูในสถาบันผลิตครูซึ่งเป็นต้นน้ำ ซึ่งปัจจุบันอ่อนแอ ไม่มีทุนพัฒนาครูของครู ตนหวังว่าจะได้เห็นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งต้องปรับวิธีการประเมิน ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปจะไม่เกิดผล
ด้าน ดร.ดิเรก พรสีมา คณบดีวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ควรใช้คำศัพท์ใหม่ๆ ให้ครูและสังคมสับสน เช่น คำว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นสิ่งที่สังคมรับทราบแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ ดำเนินการตามกฎหมายที่มีให้เกิดผล ไม่ใช่คิดทำใหม่และแก้กฎหมายบ่อย ทั้งที่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติกับนักเรียน สิ่งที่อยากเห็นคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับครูของครู และควรมีข้อกำหนดให้สถาบันการผลิตครูกับสถาบันการใช้ครูทำงานร่วมกันในการผลิตครูตามความต้องการ
ขณะนี้ผู้แทนองค์กรครู เครือข่ายองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศ อาทิ นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย, นายธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา กรรมการบริหารชมรมครูภาคเหนือ, นายรตนภูมิ โนสุ นายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย, นายมาโนช ห่วงศรี ผู้แทนสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.), นายปรีดี โสโป เลขาธิการเครือข่ายครูนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในแนวทางเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู, ยกเลิกคำว่าครูใหญ่ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ และกลับมาใช้คำว่าผู้อำนวยการสถานศึกษาตามเดิม ทั้งยกเลิกคำว่าผู้ช่วยครูใหญ่ ใช้คำว่ารองผู้อำนวยการและต้องมาจากบุคลากรวิชาชีพครู และให้คงไว้ซึ่งวิทยฐานะของครูที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยนายรัชชัยย์ กล่าวว่า การทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ควรทำอย่างกว้างขวาง จัดหลายครั้ง มีการแจกเอกสารร่าง พ.ร.บ.การศึกษา และร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ให้สาธารณชนได้ศึกษาทำความเข้าใจ หากเร่งรัดนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้เข้าสู่สภา โดยยังไม่แก้ไขหรือประชาพิจารณ์จนเป็นที่ยอมรับแล้ว ตนจะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายการประชุมเครือข่ายองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ขอให้แก้ไขประเด็นต่างๆ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ กอปศ. โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ. เป็นผู้รับมอบ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 17 สิงหาคม 2562