สกศ. ชง 'ณัฏฐพล'รื้อใหม่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หลังถกเข้มองค์กรวิชาชีพครูสางประเด็นข้องใจ 'ครูใหญ่-ใบอนุญาตวิชาชีพ' มั่นใจร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในปีนี้
วันนี้ (16 ส.ค.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..." โดยมีผู้แทนองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนองค์กรวิชาชีพครู เข้าร่วม ซึ่ง ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้น และขณะนี้ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนร่างกฎหมายและปรับปรุงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ดังนั้น สกศ. จึงจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ซึ่งหลังจากวันนี้ จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก คือ ในวันที่ 26 - 27 ส.ค.2562 ในงานมหกรรมการศึกษาแห่งชาติ : ก้าวสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ จากนั้นจะวิเคราะห์ความคิดเห็นที่แตกต่างจากทุกฝ่าย เพื่อจัดระบบการทบทวนร่างกฎหมายใหม่ และเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการสภาการศึกษา เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และมั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ภายในปี 2562
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงสภาพปัญหาการศึกษาไทยมีคุณภาพตกต่ำ รวมถึงกลุ่มองค์กรวิชาชีพครูได้ขอให้วิเคราะห์และทบทวน มาตราต่างๆ ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เช่น มาตรา 22 ที่ให้สถานศึกษาจัดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษา ทำหน้าที่กำกับ เสนอแนะ ช่วยเหลือ เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 ที่มุ่งพัฒนาฝึกฝนคนตามช่วงวัย และหน้าที่อื่นตามวรรคสองนั้น มีความจำเป็นมากน้อย และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างไร มาตรา 37 กรณีเสนอเปลี่ยนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นครูใหญ่ เป็นบัญญัติว่าให้ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ ครู อาจมีความก้าวหน้าตามที่กฎหมายกำหนด ครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่อาจมีชื่อตำแหน่งเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนดก็ได้ และปรับแก้มาตรา 100 ประเด็นเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู รวมถึงขอให้ยุติการออกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การศึกษาแห่งชาติ เป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และเสนอให้มีคณะกรรมการทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562