จดหมายเปิดผนึกถึง คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 1
เรื่อง ไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนและการตัดอัตรากำลังครูสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน
เรียน ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตามที่ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ) แจ้งว่าเมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้หารือถึงการควบรวมสถานศึกษาโดยนำเด็กนักเรียนไปเรียนโรงเรียนอื่น 100 % แล้วสองปี มั่นใจว่าไม่มีปัญหาแล้วให้ทำเรื่องเลิกสถานศึกษาซึ่งน่าจะเป็นขั้นบันไดในการเลิกสถานศึกษาที่ดีและขณะนี้ได้แจ้งให้ สพฐ ได้ไปดูระเบียบ แนวปฏิบัติ ประกาศ ของสพฐเกี่ยวกับการควบรวมสถานศึกษา เลิกสถานศึกษา และเสนอแนะให้ยกเลิกของเก่าทั้งหมด แล้วออกเป็น ประกาศใหม่ฉบับเดียวเพื่อไม่ให้คำสั่งที่มีอยู่ขัดแย้งกัน นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)ไม่อนุมัติอัตราครูและผู้บริหารสถานศึกษาให้โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน หากมีครูเกษียณก็จะไม่มีการเติมครูและผู้บริหารให้ บางโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนก็ยังยุบเลิกไม่ได้เพราะต้องเป็นความยินยอมของชุมชนดังนั้นถ้าไม่ทุบโต๊ะและปล่อยให้ชุมชนคิด คงไม่มีวันสำเร็จ นั้น เห็นว่า
1. การยุบหรือควบรวมสถานศึกษาโดยอาศัยช่องทางทางกฎหมายอย่างเดียวแต่เพียงฝ่ายเดียวหากไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ให้โอกาสชุมชนผู้มีส่วนได้เสียได้เสนอแนะแสดงความคิดเห็นนั้นย่อมไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ซึ่งบัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่ารัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ การออกกฎหมายที่จะยุบและควบรวมโรงเรียนโดยที่ไม่มีการรับฟังชุมชนผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 58 ซึ่งบัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่าการดำเนินการใดของรัฐ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อประชาชน
2. การที่ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)ไม่อนุมัติอัตราครูและผู้บริหารสถานศึกษาให้โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน หากมีครูเกษียณก็จะไม่มีการเติมครูและผู้บริหารให้ นั้นก็จะเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินการที่นอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และ มาตรา 58 แล้วก็ยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ที่บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญว่ารัฐต้องให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี อย่างไม่มีค่าใช้จ่าย การที่รัฐไม่อนุมัติอัตราครูหรือไม่อนุมัติอัตราผู้บริหารโรงเรียน จึงเป็นการดำเนินการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา54
3. สิทธิตามกฎหมายของนักเรียนนั้นคือการได้รับการศึกษาใกล้บ้าน ได้รับการสนับสนุนทางด้านการศึกษาจากชุมชนใกล้บ้าน มีความสะดวกในการเดินทาง มีความสะดวกของผู้ปกครองในการนำอาหารกลางวันมาส่งให้บุตรหลานที่โรงเรียนหรือความสะดวกของนักเรียนในการกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน ความสะดวกในการกลับถึงบ้านเร็วเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองอันเป็นวิถีชีวิตของชุมชนในชนบท การที่จำนวนนักเรียนลดลงโดยไม่ใช่ความผิดของนักเรียนหรือความผิดของชุมชน แต่รัฐกลับแก้ปัญหาโดยการจะยุบโรงเรียน และใช้วิธีการการตัดอัตรากำลังครูไม่ให้ไปสอน ตัดอัตรากำลังโดยไม่ส่งผู้บริหารโรงเรียนไปทำหน้าที่ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่บ่งบอกถึงการดำเนินการที่นอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญแล้วยังเป็นการสวนทางกับการประกาศนโยบายของรัฐในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากนี้ที่มีการประกาศในเรื่องการยุบโรงเรียนว่า “ถ้าไม่ทุบโต๊ะและปล่อยให้ชุมชนคิดคงไม่ประสบความสำเร็จนั้น” เป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในเรื่องของหลักการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีมุมมองว่าการตัดสินใจของชุมชนทั้งหลายไม่มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมีรากเหง้ามาจากความเป็นเผด็จการอย่างยิ่ง
ผมเชื่อว่าบรรดาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความคิดให้ยุบโรงเรียนแล้วให้นักเรียนไปเรียนท่ีอื่นนอกชุมชนของตนเองนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ไม่ได้เคยสัมผัสชีวิตในสังคมชนบทมาก่อน จึงไม่เข้าใจจิตใจและรับรู้ความเดือดร้อนของบุคคลที่มีวิถีชีวิตเช่นนั้น การคิดในเรื่องการจัดการศึกษาที่อาศัยเพียงหลักเศรษฐศาตร์อย่างเดียวโดยพิจารณาในเรื่องกำไรขาดทุนที่เป็นตัวเงินนั้นไม่สามารถนำมาใช้กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ผมอยากให้ กพฐ ดูตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นกล่าวคือที่สถานีรถไฟคิวชิราทากิ บนเกาะฮอกไกโดของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเดิมจะปิดสถานีเพราะผู้โดยสารน้อยและได้สร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่ในย่านชุมชนที่อยู่ห่างออกไปแล้ว แต่การรถไฟประเทศญี่ปุ่นได้ เปลี่ยนใจยอมเดินรถเพื่อรับ-ส่ง เด็กหญิงฮาราดะ คานะ นักเรียนหญิงที่เป็นผู้โดยสารคนเดียวตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน จนถึงทุกวันนี้ โดยรถไฟจะจอดที่สถานีนี้วันละ 2 ครั้ง ตามเวลาไปกลับโรงเรียนของเด็กคนนี้ จนกว่าจะจบการศึกษาในปีนี้ ตัวอย่างเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของคุณค่าทางด้านการศึกษาของมนุษย์ที่แม้เพียงคนเดียวก็มีค่ามากมายเกินกว่าที่จะมาคิดเรื่องกำไรขาดทุนได้ ผมอยากให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานคิดในเรื่องที่ สพฐ ปรึกษาหารือ มากกว่าจะคิดในแง่มุมเชิงอำนาจ หรืออาจคิดในเรื่องของการให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มากกว่านี้เช่นการเสนอแนะให้มีการวิเคราะห์หลักสูตรว่าเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันหรือไม่ เป็นต้น และหลายๆเรื่องก็ควรปล่อยให้ส่วนราชการต้นสังกัดได้มีโอกาสคิดและตัดสินใจเองบ้าง การคิดที่จะยุบ ควบรวมโรงเรียนหรือการไม่จัดสรรอัตรากำลังให้โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คนโดยไม่มีแผนรองรับที่เหมาะสมและยอมรับได้ของชุมชน นั้น สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องให้ยกเลิกเพิกถอนและจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐมาก เรื่องการไม่จัดสรรอัตรากำลังให้โรงเรียนทีมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนนั้น ผมจะเสนอเรื่องให้ฝ่ายการเมืองพิจารณาและแก้ไขปัญหาในเร็ววันนี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย