'คุณหญิงกัลยา' เดินเครื่องสอนเรื่องโค้ดดิ้ง เริ่ม ป.1-ป.3 ภาคเรียนที่ 2/2562 นี้ มุ่งเป้าเด็กไทยคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ เพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงนโยบายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21 ที่โครงการ W DISTRICT พระโขนง ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่จะทำในปีแรก คือเรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 โดยกระทรวงศึกษาธิการจะสอนเรื่องโค้ดดิ้งให้กับเด็กไทย ตั้งแต่ป.1-3 ในเดือนพฤศจิกายนของภาคเรียนที่ 2/2562 นี้ สำหรับโค้ดดิ้ง Coding มีความหมายดังนี้ C หมายถึง Creative Thinking หรือ คิดแบบสร้างสรรค์ O หมายถึง Organized Thinking หรือ คิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ D หมายถึง Digital Literacy หรือ เข้าใจภาษาดิจิทัล I หมายถึง Innovation หรือ คิดเกิดนวัตกรรม N หมายถึง Newness คือ สนับสนุนการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และ G หมายถึง Globalization คือ เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้นจึงหมายถึง การสอนให้เด็กไทยคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ เพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และเป็นโค้ดดิ้งที่คนไทยทุกคนเรียนได้ ทั้งยังถือเป็นการปฎิรูปการศึกษาที่ถึงตัวเด็กเป็นครั้งแรก
รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงการโค้ดดิ้งกับเด็กไทย ว่า การโค้ดดิ้งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการคำนวณ และเกี่ยวข้องกับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ค่อนข้างมากซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีการปรับหลักสูตรตั้งแต่ปี 2560 เพื่อดึงศักยภาพการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบของเด็กออกมาให้มากที่สุดตั้งแต่ยังเด็ก โดยปรับรูปแบบการสอน ปรับตำรา ซึ่งใช้การ์ตูนเป็นสื่อ และโยงให้เข้ากับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้การโค้ดดิ้งไม่ได้เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากเด็กคิดอย่างเป็นระบบแล้ว ก็สามารถปรับใช้กับวิชาอื่นๆได้ โดยการโค้ดดิ้งในระดับประถม1-3 เป็นการสอนแบบพื้นฐานง่ายๆ ยังไม่ต้องสัมผัสเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อขึ้นป.4 เมื่อเด็กเริ่มคิดและพัฒนาได้แล้ว จึงเริ่มการใช้โค้ดดิ้งผ่านคอมพิวเตอร์ ภายใต้การควบคุมของครู ส่วนระดับมัธยมซึ่งเป็นวัยที่มีความเข้าใจเรื่องของนามธรรม ก็จะสามารถจินตนาการเขียนออกมาเป็นโค้ดได้
“การปูพื้นฐานโค้ดดิ้งตั้งแต่เด็ก มีเป้าหมายเพื่อเตรียมเด็กไทยในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เด็กจะมีความสามารถในการปรับตัว ทำงานและคิดแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ เพราะเราไม่ทราบว่าในอนาคตอีก20ปีข้างหน้า เมื่อเด็กในยุคนี้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะต้องพบกับอะไร แต่เรามั่นใจได้ว่า เด็กเหล่านี้มีพื้นฐานที่ดีพอสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต” รศ.ยืน กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2562