ผลวิจัยสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561-2562 ยังย่ำอยู่กับที่มีปัญหาปริมาณ-คุณภาพ ชี้จุดเน้นต้องปฏิรูปครู-หลักสูตร-โครงสร้าง สกศ.ใช้เป็นกระจกสะท้อนขยับปรับกลยุทธ์แผนการศึกษาแห่งชาติ สอดรับนโยบายรัฐบาล
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่โรงแรม เดอะ รอยัล ริเวอร์ กรุงเทพ ฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น " รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562 โดย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า สกศ.เตรียมทบทวนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 - 2579 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง สกศ.ดำเนินการสรุป วิเคราะห์ ประเมินผลการดำเนินการจัดการศึกษาในรอบปี 2561และครึ่งแรกของปี 2562 โดยหวังให้รายงานสภาวะการศึกษาไทยเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทยที่แท้จริง และเป็นจุดสำคัญในการกำหนดทิศทางและนโยบายการศึกษาของประเทศต่อไป
ด้าน รศ.ดร.วิทยากร เชียงกูล นักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการสภาวะการศึกษาไทย 2561-2562 กล่าวว่า ปัญหาหลักและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทย มี 2 ด้านใหญ่ๆ คือ 1. ปัญหาเชิงปริมาณ ยังให้บริการแก่เด็กเยาวชน ประชาชนทั่วประเทศได้อย่างไม่ทั่วถึง มีคนที่ไม่ได้เรียนและออกกลางคันก่อนจบชั้น ม.ปลายสูง โดยมีเยาวชนที่ไม่ได้เรียนชั้น ม.ปลาย ร้อยละ 30 ของประชากรวัยเดียวกัน 2. ปัญหาเชิงคุณภาพ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังสอนแบบบรรยายเนื้อหาให้นักเรียนท่องจำไปสอบแบบปรนัย นักเรียนยังคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้น้อย และมีความแตกต่างคุณภาพระหว่างโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมืองใหญ่ 300 กว่าแห่ง กับโรงเรียนรอบนอกราว 3 หมื่นแห่งมาก
"แนวทางการปฏิรูปที่สำคัญ คือ ต้องปฏิรูปผู้บริหาร ครู อาจารย์ ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผล และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการให้มีคุณภาพ ปฏิรูปการคัดเลือกคนเรียนครูอย่างเลือกเฟ้น และปฏิรูปหลักสูตรการสอน การวัดผล นักศึกษาครูและครูต้องรักการอ่าน ใฝ่รู้ เรียนรู้ด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์เป็น จึงจะสามารถไปสอนนักเรียนในแนวใหม่ได้ สำหรับครูเก่าต้องประเมินผลใหม่ ครูที่สอบได้คะแนนต่ำมากควรเลิกจ้าง ครูที่ได้คะแนนต่ำ-ปานกลางควรจัดฝึกอบรมใหม่แบบเน้นภาคปฏิบัติและติดตามผลการฝึกอบรมอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ภาพรวมการปฎิรูปการศึกษาไทย ควรมีเป้าหมายพัฒนามนุษย์ที่สมบรูณ์ มีทั้งความรู้ ทักษะที่ใช้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว มีความฉลาด ทักษะด้านอารมณ์และสังคม มากกว่าการสร้างมนุษย์ทางเศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขันหาเงินและบริโภค"
รศ.ดร.วิทยากร กล่าวและว่า ขณะนี้ปัญหาการศึกษาเก่าๆยังแก้ไขได้น้อยมาก ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งระบบ ตนมองว่าปัจจัยที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหาการศึกษาได้ต้องอาศัยทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเมือง ภาคเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องตกงาน ก็อาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้สังคมลุกขึ้นมาช่วยกันปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลมากขึ้น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562