สพฐ.หนุน นโยบายเรียนโค้ดดิ้ง เริ่มภาคเรียนที่ 2 นำร่องเรียนโค้ดิ้งแบบเข้มในโรงเรียน 3,000 แห่ง เผย ในอนาคตขยายให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ
วันนี้ (6 ส.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายมุ่งให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้งนั้น เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมนำนโยบายดังกล่าวสู่การปฎิบัติอย่างเต็มที่ โดยจะเริ่มนำร่องโรงเรียนสอนโค้ดดิ้ง จำนวน 3,000 แห่งแบบเข้มในภารเรียนที่ 2/2562 นี้ทันที ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนนี้ สพฐ.จะมีการตั้งคณะทำงานอบรมครูเกี่ยวกับการสอนโค้ดดิ้ง เพื่อเติมเต็มทักษะการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวให้ครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อเปิดภาคเรียนต่อไปครูจะได้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนได้
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง สพฐ.ได้มีการดำเนินการมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขับเคลื่อนการเรียนโค้ดดิ้งสู่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 8,224 แห่ง โดยจัดโครงกาสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียนและสนับสนุนบอร์ดสมองกลฝัง โรงเรียนละ 50 บอร์ด และคู่มือการใช้บอร์ดสมองกลฝังตัว นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้จัดอบรมครูแบบ Unplugged Computer Science เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาการคำนวณที่ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ โดยอบรมครูโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาสตูล ซึ่งเป็นหน่วยการเรียนรู้ต้นแบบที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ระหว่างการอบรมด้มีการบันทึกวิดิทัศน์ และนำไปเผยแพร่ในระบบ New DLTV ช่อง 15 เพื่อให้ครูที่สนใจการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาการคำนวณสามารถรับชมย้อนหลังได้
“การเรียนโคดิ้งมีความสำคัญเพราะจะให้เด็กคิดวิเคราห์เป็น ซึ่งการเรียนโค้ดดิ้งจะแบ่งรูปแบบการเรียนแต่ละระดับตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และยังเป็นการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตามในอนาคตจะขยายการเรียนโค้ดดิ้งให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป” ดร.สุเทพ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562