เลขาธิการ กพฐ. เผย ข้อมูลสรุปภาพรวมการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนทั่วประเทศ พบ ส่วนใหญ่งบประมาณไม่พอ และ ไม่มีบุคลากรด้านงานโภชนาการที่เหมาะสม เตรียม นำข้อมูลเสนอ “ณัฏฐพล” วางแนวทางแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันนี้ (24 ก.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มีหนังสือแจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรงบอาหารกลางวันให้แล้วเสร็จในวันที่ 22 ก.ค.นั้น สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน (สกก.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สรุปภาพรวมการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ปี 2562 แล้วพบว่า วิธีการจัดสรรงบประมาณจะผ่านไปทาง อปท. โรงเรียนจะทำโครงการและข้อมูลจำนวนนักเรียนเพื่อของบประมาณค่าอาหารกลางวันให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. ของแต่ละปี โดยจัดส่งข้อมูลให้ อบต.และเทศบาล เพื่อจะได้รับจัดงบประมาณ ให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา ปัญหาคือในแต่ละปี อปท.จะจัดสรรงบประมาณให้ไม่ทันเปิดภาคเรียน ซึ่งในปี พ.ศ.2562 จากการสำรวจช่วงเวลาที่โรงเรียนที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันจาก อปท. โรงเรียนที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 23,655 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 86.93 จากจำนวนโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั้งหมด 27,212 โรงเรียน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ค. 62) พบว่า โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อนเปิดภาคเรียนหรือได้รับงบประมาณตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 62 จำนวน 9,239 แห่ง โรงเรียนได้รับงบประมาณระหว่างวันที่ 17 พ.ค.– 10 มิ.ย. 62 จำนวน 11,801แห่ง และโรงเรียนได้รับงบประมาณหลังวันที่ 10 มิ.ย. 62 จำนวน 2,615 แห่ง
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การสำรวจการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันระหว่างวันที่ 8 – 20 ก.ค. 2562 พบว่า มีโรงเรียนจัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเอง จำนวน 4,835 โรง ของจำนวนโรงเรียนที่สำรวจข้อมูล (22,956 โรงเรียน) แยกเป็น อาทิ โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 1 – 40 คน จำนวน 789 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 16.32 มีปัญหาและอุปสรรค คือ โรงเรียนมีงบประมาณในการดำเนินการจัดอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน แต่งบประมาณสำหรับการบริหารจัดการไม่เพียงพอ เช่น ไม่พอค่าใช้จ่ายค่าแก๊สหุงต้ม ค่าเครื่องปรุง ไม่สามารถจัดรายการอาหารให้หลากหลายได้ โดยเฉพาะรายการอาหารที่มาจากปลา หรือ อาหารทะเล โดยจัดเมนูอาหารกลางวันได้เพียง 1 เมนูเท่านั้น และบางโรงเรียนไม่สามารถจัดขนมหวานและผลไม้ให้แก่นักเรียนทุกวัน โรงเรียนขนาดเล็กมีบุคลากรน้อย มีภาระงานสอนมาก ครูบางคนขาดความรู้การประกอบอาหารตามหลักโภชนาการ ดังนั้นโรงเรียนจะต้องให้มีการเพิ่มงบสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม หรือ โรงเรียนควรหาเครือข่ายในการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนและความร่วมมือในการจัดเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 500 –1,499 คน จำนวน 52 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.08 และโรงเรียนที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 1,500 –2,499 คน จำนวน 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.06 ส่วนใหญ่พบปัญหาและอุปสรรค คือ บุคลากรมีภาระงานเพิ่มขึ้นและกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน จึงมีข้อเสนอให้โรงเรียนควบคุมคุณภาพปริมาณของอาหารกลางวัน และโรงเรียนควรหาเครือข่ายในการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนและร่วมมือจัดเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
2.โรงเรียนจัดซื้อวัตถุดิบและจ้างบุคคลภายนอกมาประกอบอาหาร จำนวน 10,455 โรง คิดเป็น 45.54% แยกเป็น อาทิ โรงเรียนที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 1 – 40 คน จำนวน 624 โรงเรียน คิดเป็น 5.97%มีปัญหาและอุปสรรค คือ โรงเรียนมีงบประมาณในการจัดซื้อวัตถุดิบ ไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องนำงบประมาณ ไปใช้จ่าย ในการจ้างแม่ครัว ทำให้ไม่สามารถจัดรายการอาหารให้หลากหลายได้โดยเฉพาะรายการอาหารทำมาจากปลา หรืออาหารทะเล โดยสามารถจัดเมนูอาหารกลางวันได้เพียง 1 เมนูเท่านั้น และไม่สามารถจัดขนมหวานหรือผลไม้ให้กับนักเรียนได้ เป็นต้น ดังนั้น โรงเรียนต้องการให้มีการสนับสนุนบุคลากรผู้รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันโดยตรง ควรหาเครือข่ายในการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนและความร่วมมือในการจัดเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและอาจทำความตกลงกับผู้รับจ้างให้ช่วยจัดซื้อวัตถุดิบจากโรงเรียน(ถ้ามี )3.จ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) จำนวน 7,161 โรงเรียน คิดเป็น 31.19% แยกเป็น อาทิโรงเรียนที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 1 – 40 คน จำนวน 905 โรงเรียน คิดเป็น 12.64% ปัญหาและอุปสรรค คือนักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ แต่ปริมาณอาจไม่เพียงพอ เหมาะสมกับวัยของนักเรียน เพราะไม่สามารถควบคุมปริมาณวัตถุดิบ แหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ ผู้รับจ้างมุ่งหวังกำไรจากการรับจ้างประกอบอาหาร จึงได้มีแนวทางแก้โดยโรงเรียนต้องการให้มีการสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารกลางวันนักเรียนเพิ่มขึ้น เป็นต้น
“ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สพฐ. ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำคู่มือการดำเนินงานกองทุน ฯ อบรมวิทยากรแกนนำ จัดสรรงบประมาณโครงการทุนหมุนเวียนส่งเสริมผลผลิตเพื่อโครงการอาหารกลางวันด้วย รวมถึงยังได้มีการกำกับติดตามอาหารกลางวันของนักเรียนปีการศึกษาละ 2 ครั้ง เพื่อรับทราบสภาพปัญหาโดยภาพรวมโรงเรียนสามารถจัดบริการอาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับประทานทุกวันทุกโรงเรียน แต่โรงเรียนมีปัญหาการดำเนินโครงการอาหารกลางวัน หลายประเด็น เช่น งบประมาณไม่เพียงพอสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก การดำเนินการจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายไม่ครบถ้วน ขาดบุคลากรที่รับผิดชอบโดยตรง หรือไม่สามารถดำเนินโครงการเกษตรเพื่อโครงการอาหารกลางวันได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บางโรงเรียนยังมีการนำงบประมาณไปช่วยเหลือโรงเรียนที่มีนักเรียนขยายโอกาสด้วย” ดร.สุเทพ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามตนจะนำข้อมูลสรุปภาพรวมการบริหารจัดการทั้งหมดเสนอให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบและวางแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562