สกศ.จัดประชุมยุทธศาสตร์ชาติสู่แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา "กฤษณพงศ์" ชี้ประเทศไทยเด็กลงลด จำนวนคนสูงอายุพุ่ง แนะปรับระบบการจัดการศึกษารองรับกลุ่มน้ำนอกท่อ หรือ คนที่หารายได้ให้ประเทศ
วันนี้ ( 23 ก.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพ ฯ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมทางวิชาการ "ยุทธศาสตร์ชาติสู่แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา " โดยมีผู้แทนองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้และแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าร่วม ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงกลางของกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และ แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และอยู่ระหว่างรอเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาลใหม่ ดังนั้น การขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาต้องอาศัยกลไกที่มีความหลากหลาย โดยใช้ทั้งอำนาจจากกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล ซึ่งตนจะนำแนวคิดและข้อเสนอที่ได้จากการประชุมนี้ไปปรับปรุงพัฒนาการทำงานของ สกศ. ในะระยะเร่งด่วน 1-3 ปีต่อไป
ด้าน ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของ กอปศ.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบปัญหาที่มีความหลากหลาย มีความสลับซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ทั้งนี้ เมื่อสังเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทยพบว่ามี 4 ปัญหาใหญ่ คือ 1.คุณภาพการศึกษาไทยต่ำกว่าสากล 2.ความไม่เสมอภาคทางการศึกษา โดยเฉพาะเด็กยากจนหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา 3.ความสามารถในการแข่งขันนานาชาติ และ 4.ความด้อยประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในการบริหารงาน เช่น การใช้งบฯในการจัดการศึกษา ซึ่งไทยมีงบฯด้านการศึกษาจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ใช้ไปกับเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้ใช้เพื่อพัฒนาเด็ก โดย กอปศ. ได้จัดทำข้อเสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และเสนอแนะทางออกของการศึกษาด้วยการปฏิรูปการศึกษา 7 ประเด็นไปแล้ว
" กอปศ. ดำเนินการผลักดันกฎหมาย และจัดทำข้อเสนอรายงานต่อรัฐบาลเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นเสมือนธรรมนูญทางการศึกษา ที่เป็นกลไกปรับแนวคิดค่านิยมใหม่ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังอยู่ระหว่างรัฐบาลพิจารณา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนและแปลงสู่การปฏิบัติโดยส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพ" อดีตประธาน กอปศ. กล่าว
ขณะที่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า ขณะนี้เด็กเกิดน้อยลง จากเด็กเกิดใหม่ปีละกว่า 1 ล้านคน ปีล่าสุดเด็กเกิดใหม่มีเพียง 7.4 แสนคน แต่คนสูงอายุจะมากขึ้น โดยในอีก 10 ปี คนสูงอายุจะเป็น 1 ใน 4 ของประชากรประเทศ คนสูงอายุยุคต่อไปจะต้องทำงาน คนวัยแรงงานก็ยังไม่ตอบโจทย์ ต้องปรับการเรียนใหม่ คนวัยทำงานมีจำนวน 35 - 40 ล้านคน ดังนั้น ต้องปรับระบบการจัดการศึกษาเพื่อรองรับคนมากกว่า 40 ล้านคน ไม่ใช่รูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นดูแลการศึกษา แค่กลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะการลงทุนจัดการศึกษาเด็กวัยเรียนมีความเสี่ยงสูง ปริมาณเด็กวัยเรียนลดลง สวนทางกับวัยทำงานและผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น โจทย์การศึกษาต่อไปจึงต้องเปลี่ยนมโนทัศน์ใหม่ อาจจำเป็นต้องปรับให้โรงเรียนที่มีเป็นสถานเรียนรู้ของผูสูงวัย ต่อไปประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ของครอบครัว มีความเอื้ออาทร และความเผื่อแผ่ต่อกันนำมาใช้ซึมซับในระบบการศึกษามากขึ้น
"ในอีก 20 ปี ประเทศไทยต้องเร่งการพัฒนาเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เร่งหนีความจนให้ทัน เพราะมีแต่คนแก่ องค์ความรู้การศึกษาต้องหันมาตื่นตัวการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ผู้สูงวัย รวมทั้งการฝึกเด็กรุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจสังคมสูงวัย และสามารถร่วมงานกันได้ โจทย์ใหม่ คือ การให้การศึกษากับคนทุกระดับทั้งประเทศ ต้องทบทวนการลงทุนด้านการศึกษากับน้ำนอกท่อ คือ กลุ่มคนที่หารายได้ให้ประเทศ เป็นคนวัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีมากถึง 40 ล้านคน ขณะที่น้ำในท่อ คือ กลุ่มเด็กในระบบการศึกษาที่น้อยลง และยังต้องมุ่งวางกรอบการพัฒนาคนตั้งแต่แรกเกิด โดยพัฒนาให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งสติปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม" ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2562