22ก.ค.62- นักวิชาการ แนะ รมว.ศธ.ใช้เวลา 1 เดือนแรกของการทำงาน ระดมสมองจากทุกภาคส่วน ตั้งโจทย์การปฏิรูปการศึกษา จะไม่ยึดติดกับความคิดและข้อเสนอของข้าราชการ ควรตั้งสมัชชาปฏิรูปการศึกษาของประเทศ
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการทำงานและนโยบายการศึกษาของนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. ว่า ทีมการศึกษาของรัฐบาลชุดนี้มีการเร่ิมต้นทางดี ไม่มีลักษณะงานของพรรคใครพรรคมัน มีการมองการศึกษาแบบเปิดกว้าง โดยประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากทุกภาคส่วนเพื่อรวบรวมข้อมูล มีทีมงานมืออาชีพคอยกลั่นกรองข้อมูล ซึ่งส่วนตัวตนเห็นว่า นายณัฎฐพล มีบุคลิกที่กล้าตัดสินใจ ซึ่งต้องถือว่าเป็นจุดแข็งของทีมการศึกษาชุดนี้
ดังนั้นตนจึงมีข้อเสนอ คือต้องการให้ รมว.ศธ.ใช้เวลา 1 เดือนแรกของการทำงานระดมสมองจากทุกภาคส่วน เพื่อตั้งโจทย์การปฏิรูปการศึกษา จะทำให้เห็นทิศทางการปฏิรูปที่ชัดเจนขึ้น โดยรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ครู นักเรียน ผู้บริหาร ไม่ยึดติดกับความคิดและข้อเสนอของข้าราชการ จะทำให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย เมื่อได้โจทย์การปฏิรูปการศึกษาแล้ว ก็ต้องตัดสินใจและลงมือทำงานทันที พร้อมกันนั้นควรตั้งสมัชชาปฏิรูปการศึกษาของประเทศ จำนวน 20-25 คน ซึ่งเป็นคณะที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไปเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
“นอกจากนี้สิ่งเร่งด่วนที่ผมอยากให้ต้องเร่งตัดสินใจคือ การปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทันกับโลกศตวรรษที่ 21 เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่เก่าแล้วควรยกเลิก ทั้งต้องเร่งปรับวิธีการทดสอบ ประเมินผล โดยเฉพาะการปรับบทบาทของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ส่วนของครูคือ การลดภาระครูซึ่งทำได้ทันทีคือ การลดเลิกสั่งนโยบายจากส่วนกลาง โดยเฉพาะโครงการต่างๆ จากสำนักต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมุ่งคิดโครงการเพื่อให้ได้งบประมาณแต่เป็นภาระของครู หากทำได้จริงจะทำให้ครูมีความสุขมาก ได้กลับคืนสู่ห้องเรียนอย่างแท้จริง รวมทั้งตัดสินใจแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... บางประเด็นที่ผู้บริหารไม่สบายใจ เช่น คำว่า ครูใหญ่ เป็นต้น เพราะหลักการในภาพรวมของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เป็นหลักการที่ดี” นายสมพงษ์ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงที่มาของสมัชชาปฏิรูปการศึกษา นายสมพงษ์ กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนรวมทั้งการหารือกับสภาการศึกษา ภาคประชาสังคม จะทำให้เห็นภาพกลุ่มคนที่รู้และเข้าใจการศึกษา ซึ่งเรื่องสมัชชาดังกล่าวรมว.ศธ.จะรับข้อเสนอหรือไม่ก็เป็นเรื่องของ รมว.ศธ. และที่เสนอก็ไม่ใช่ต้องการจะให้มาเลือกตนด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562