20ก.ค.62 - กลุ่มผู้แทนครูจากทั่วประเทศ ตบเท้า เข้า พบ “รมว.ศธ.” เสนอปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา ด้าน “ณัฏฐพล” เตรียม ารือ หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม การเชื่อมต่อนโยบายบริหารงานให้ดีมากยิ่งขึ้น
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) - กลุ่มผู้แทนครูจากทั่วประเทศ ประมาณ 100คน นำโดยนายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้เดินทางมาพบนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยนายออน กล่าวว่า กลุ่มองค์กรครูจากทั่วประเทศ เช่น สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย สมาพันธ์ครูและบุคลากรทางการศึกษา กศน. สมาพันธ์ศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทยและ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นต้น ได้มาแสดงความยินดีกับนายณัฏฐพล ที่เข้ารับตำแหน่ง และได้เสนอปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา โดยประเด็นที่เสนอจะ เป็นเรื่องโครงสร้างการบริหารงานกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปัจจุบับมีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เพียง 42 เขต ขณะที่มี 77จังหวัด ทำให้การบริหารงานในเขตพื้นที่ไม่คล่องตัว จึงต้องการให้มีสพม.ครบทุกจังหวัด นอกจากนี้เสนปัญหาหนี้สินครู ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ที่ควรให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม และการปรับหลักสูตรบางหลักสูตรที่ไม่สนองตอบยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น
ด้านนายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนได้รับฟังปัญหาความคิดเห็นที่สะท้อนจากองค์กรครูต่างๆ โดยตนจะนำความเห็นเหล่านี้มาประกอบกับข้อมูลของหน่วยงานในสังกัด ศธ. เพื่อที่จะแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เช่น เรื่องโครงสร้างการบริหารงานของ ศธ. หนี้สินครู หลักสูตร และงบประมาณต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตนเข้าใจถึงปัญหาและคงต้องหาแนวทางที่จะแก้ไข ทั้งนี้ในเบื้องต้น ตนคิดว่าเรามีแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่คงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากองค์กรครู และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยแก้ไขปัญหาผ่านนโยบาย ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาจากส่วนกลางเพียงทางเดียว เป็นการผลักดันการศึกษาไทยให้เดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งการประชุมหารือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ทั้ง 2 ภาคส่วน ได้มาพบกัน โดยตนในฐานนะผู้ที่นำเสนอนโยบายต่างๆ สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ คือ การหารือ ระหว่างตน ผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. และตัวแทนครู เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีและการเชื่อมต่อนโยบายบริหารงานให้ดีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามตนจะนำข้อมูลที่ได้รับเสียงสะท้อนมาร่วมหารือกับผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. เพื่อรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา หาสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่สำเร็จ และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงเรื่องร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งหลายฝ่ายก็มีข้อกังวลใน 2-3 ประเด็น ดังนั้นตนจึงขอเวลาไปศึกษาในรายละเอียด เกี่ยวกับที่มาที่ไป และความเหมาะสมความเป็นมาของกฎหมายดังกล่าวก่อน รวมถึงดูความกังวลให้ชัดเจนด้วยว่ามีในจุดไหน ซึ่งในเบื้องต้นตนคิดว่าน่าจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน และตนคิดว่าเราจะต้องมองผ่านไปถึงช่วงโหว่ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่อาจจะมีเกิดขึ้น เพราะเราไม่ต้องการที่จะทำอะไรซ้ำซ้อนและต้องมีการกลับมาแก้ไข ดังนั้นจึงต้องทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะช้าแต่ก็ได้มีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารงานของ ศธ. ที่มีความต้องการให้เพิ่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทุกจังหวัด นายณัฏฐพล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ตนคงปรึกษากับผู้บริหารองค์กรหลักในการดำเนินการ ทั้งเรื่องผลกระทบ งบประมาณ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการรับภาระด้านงบประมาณในระยะยาว เพราะตนเคยพูดแล้วว่า หากเราต้องการทำอะไรที่กระทบต่องบประมาณ เราก็จะต้องตัดบางส่วนที่จะทำให้การใช้งบประมาณเกิดความสมดุล ตนคงไม่เป็นผู้นำที่เพิ่มแต่งบประมาณโดยไม่ตัดงบประมาณที่ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคงต้องทำให้งบประมาณมีประสิทธิภาพทั้งระบบ ทั้งนี้หากเรารัดเข็มขัดตัวเอง นำเทคโนโยลีมาใช้ เพื่อทำให้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนคิดว่า ศธ.น่าจะมีงบประมาณที่เหลือเพียงพอที่จะทำให้โครงการ หรือนโยบายต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน คาดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2562