รมว.ศึกษาธิการ เซ็นคำสั่งแบ่งงานให้ รมช.ศึกษาธิการ ดูแลรับผิดชอบ คุณหญิงกัลยา ดูแลงาน สกศ.-สทศ.-สสวท.-รร.มหิดลฯ ส่วนกนกวรรณ รับผิดชอบ กศน.-สช.-ลูกเสือ และ รมว.ศึกษาธิการ คุม สพฐ.-สอศ.
นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้มีคำสั่งแบ่งงานให้ รมช.ศึกษาธิการ ทั้ง 2 คนเป็นผู้รับชอบดูแลเรียบร้อยแล้ว โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช จะดูแลสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ส่วนนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ จะรับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยตนจะรับผิดดูแลงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัด ศธ.
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทันที มี 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ 1.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร โดยเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เรื่องการเรียนการด้านเกษตร แก่เด็กที่เรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ เพื่อยกระดับของการทำเกษตร และเกษตรกรของไทย เป็น Smart Farmer อีกทั้ง ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม 2. เรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาสมัยใหม่ ที่เป็นทักษะของโลกในอนาคต และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ดังนั้น ตามนโยบายของรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายมานั้น ให้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเบื้องต้น คงไม่ได้เป็นการสอน Coding ทั้งประเทศ แต่จะเป็นการเริ่มในบางโรงเรียน และมีการอบรมครูผู้สอน ซึ่งขณะนี้มีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) เป็นหน่วยงานหลักในการอบรมครูผู้สอน ทั้งนี้ สำหรับการเรียนการสอน Coding ไม่ได้เป็นการสอนการเขียนโปรแกรม หรือเขียน Coding แต่เป็นการสอนตรรกะ ทำให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหา และเรียนได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จะมีคอมพิวเตอร์ หรือไม่มีก็สามารถเรียนได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะมีทีมงานในการดำเนินการ เพราะเรื่องดังกล่าว ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เด็กอนุบาล -ประถมศึกษา ได้เรียน Coding และจะเน้นในโรงเรียนต่างจังหวัด เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการเรียน Coding อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว จะมีการแถลงนโยบายชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ค.2562 นี้
นางกนกวรรณ กล่าวว่า ได้รับแนวทางเบื้องต้นในการทำงาน โดยจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงาน นโยบายต่างๆ ของศธ. ที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ได้มีวิสัยทัศน์เดิมอยู่แล้ว คงต้องไปดูในส่วนเดิม และดูว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดมากขึ้น เช่น การจัดการเรียนการสอนของเด็กที่เรียนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งมีเด็กจำนวนมาก และมีการเรียนรู้อาชีพ จะเน้นให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และทำอย่างไรให้ผู้เรียนมาเรียนมากขึ้น เพราะบางคนลงทะเบียนเรียนไว้ แต่ไม่สะดวกมาเรียน นอกจากนั้นจะมีการส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรด้านวิชาการ และหลักสูตรด้านอาชีพให้แก่เด็ก ประชาชนทั่วไป ได้เรียนรู้ รวมถึงมีการสร้างขวัญกำลังใจแก่ครู กศน.ด้วย ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐ และถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ นอกจากนั้น การเรียนการสอนของอาชีวศึกษา จะพยายามทำให้มีความภาคภูมิในในตนเอง ที่จะไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นมือเปื้อน แต่ต้องมือเปื้อนที่มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจมากขึ้น อีกทั้งจะมีการส่งเสริมทวิภาคี เพื่อจะได้สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการ โดยจะต้องมีการติดตามและประเมินผล จากผู้ประกอบการทุกพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้ ฝึกงาน และได้เงินเดือนระหว่างเรียนร่วมด้วย รวมทั้ง จะมีการส่งเสริมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด เน้นให้ลูกหลานมีวินัย ทำอย่างไรให้เด็กอยากมีส่วนร่วมในการเป็นพลเมืองที่ทุกคนมีความสุข และมีส่วนร่วม และมีภาคภูมิใจในการเป็น ลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2562