นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท. ) เปิดเผยว่าตามที่มีข่าวเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน โดยบางแห่งมีความรุนแรงถึงขั้นมีการกล่าวหาว่าคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนแสวงหาผลประโยชน์เรื่องการฝากนักเรียนเข้าเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนแข่งขันสูง บางแห่งผู้อำนวยการโรงเรียนถูกนักเรียนและผู้ปกครองเดินขบวนขับไล่โดยมีข้อมูลว่าคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเดินขบวนขับไล่ดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าผู้อำนวยการมีพฤติกรรมส่อไปในทางแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง และบางฝ่ายมีความเห็นว่าควรให้ยกเลิกไม่ต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยให้อิสระผู้อำนวยการโรงเรียนในการบริหารโรงเรียน นั้น
เรื่องนี้ ส.บ.ม.ท.เห็นว่าการมีอยู่และบทบาทหน้าท่ีของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่บัญญัติไว้มีสาระว่าให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละสถานศึกษาทำหน้าท่ีกำกับและส่งเสริม สนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษา ผู้แทนพระภิกษุสงฆ์หรือผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในพื้นที่และผู้ทรงคุณวุฒิ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังได้มีประกาศให้มีการกระจายอำนาจการบริหารโรงเรียนไปเป็นอำนาจของโรงเรียนแต่ในประกาศดังกล่าวบัญญัติให้การดำเนินการหลายๆ เรื่องต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนมิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น การวางแผนงานด้านวิชาการ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาระบบคุณภาพภายใน การวางแผนงานด้านงบประมาณ การจัดทำแผนงบประมาณการใช้จ่ายเงิน การขอโอนและเปลี่ยนแปลงงบประมาณ การระดมทรัพยากร การรับนักเรียนและการวางแผนอัตรากำลัง เป็นต้น
การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ได้มีการปฏิบัติมาเป็นเวลาร่วมยี่สิบปีแล้วพบว่าเป็นกฎหมายที่ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่สะดวกขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานเพราะในหลายๆครั้งที่ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาไม่ว่างไม่สามารถจัดประชุมเพื่อพิจารณาได้ มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม หรือหากคณะกรรมการสถานศึกษาบางรายมีข้อขัดแย้งเป็นการส่วนตัวกับผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะไม่อนุมัติแผนต่างๆ ทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านอัตรากำลัง ด้านการรับนักเรียน ทั้งๆที่การบริหารโรงเรียนต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนลดลง พัฒนาได้ไม่เต็มขีดความสามารถของโรงเรียนโดยแท้ ทั้งๆที่ภาระงานต่างๆดังกล่าวฝ่ายบริหารโรงเรียนสามารถดำเนินการได้เองอย่างมีคุณภาพ
ส.บ.ม.ท.จึงได้เสนอเรื่องนี้เป็นการภายในไปที่ สพฐ แล้ว และ สพฐ ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาแก้ปัญหานี้แล้วที่โรงแรมฮิป กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ส.บ.ม.ท.จะเสนอรัฐบาลให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยให้ลดบาทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานลงให้มีหน้าท่ีเพียงเป็นผู้ให้การสนับสนุนเมื่อมีการร้องขอไม่ใช่ให้อยู่ในบทบาทของผู้มีอำนาจอนุมัติอนุญาตจนกระทั่งทำให้โรงเรียนหลายโรงเรียนเดินหน้าต่อไปไม่ได้
“การควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโรงเรียนหรือฝ่ายบริหารโรงเรียนนั้นมีระบบที่เป็นการคานอำนาจกันอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้ว และที่สำคัญระบบการบริหารงบประมาณเป็นระบบเปิด ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ หากผู้บริหารโรงเรียนรายได้มีพฤติกรรมไม่สุจริต จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง และมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายในทุกช่องทางอย่างรวดเร็ว และเฉียบขาดต่อไป” นายรัชชัยย์ฯกล่าวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท. )