บอร์ด กพฐ.กำชับโรงเรียนไม่เปิดประมูลทำโครงการอาหารกลางวันนักเรียน แนะ สพฐ.วิเคราะห์เงินขั้นต่ำ เผยอนาคตเด็กไม่ได้รับเงินอุดหนุนเท่ากัน โรงเรียนที่มีเด็กมากได้เงินน้อย โรงเรียนที่มีเด็กน้อยได้เงินมาก
วันนี้ (12 ก.ค.) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุม กพฐ.ได้ขอให้ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับย้ำกับสถานศึกษาเรื่องการดำเนินโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งโครงการอาหารกลางวันมีหลากหลายวิธี เช่น จ้างเหมาทำ และ โรงเรียนทำเอง เป็นต้น โดยให้สถานศึกษายึดตามแนวปฏิบัติในการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร การจ้างบุคคลเพื่อประกอบอาหารหรือการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) ที่ทางกรมบัญชีกลาง แจ้งมา ซึ่งโครงการอาหารกลางวันให้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่า ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 งบประมาณที่นักเรียนได้รับคนละ 20 บาทต่อวัน เมื่อรวมกันแล้วหากเกิน 5 แสนบาท ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการประกวดราคมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีบิดดิ้ง โดยให้ดูตามความเหมาะสม สามารถซื้อเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายภาคเรียนก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กได้รับเงินเต็มจำนวน หากมีการใช้วิธีอีบิดดิ้ง หรือ ประมูลแข่งขัน ตัวเงินก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องมีการเฉือนราคากัน จะทำให้เด็กไม่ได้รับเงินเต็ม 20 บาท
ประธาน กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องโครงการอาหารกลางวันสิ่งที่ควรทำ คือ มาวิเคราะห์อย่างจริงจัง ซึ่งจำนวนเงิน 20 บาทต่อคนต่อวัน พอหรือไม่พอนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียน เช่น ถ้านักเรียน 200 คนขึ้นไป ได้คนละ 20 บาท รวม 4,000 บาท ไม่น่าเป็นปัญหาในการจัดหาอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ แต่ถ้านักเรียน 30 หรือ 40 คนลงมา เงิน 20 บาท ที่ได้รับอาจจะมีปัญหา โดยที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะ สพฐ.ไปว่า ควรคิดขั้นต่ำจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ เงินอาหารกลางวันควรจะเป็นเท่าไหร่ เช่น ถ้าโรงเรียนมีนักเรียน 30 คน เงินอาหารกลางวันอาจเป็นคนละ 40 บาทก็ได้ ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก ค่าอาหาร 20 บาท เงินจะเหลือ ซึ่งบางสถานศึกษาได้นำเงินส่วนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ซื้ออุปกรณ์ครัว เป็นต้น แต่ถ้ามีการคิดเงินขั้นต่ำต่อไป นักเรียนอาจไม่ได้รับเงินอุดหนุนอาหารกลางวันเท่ากัน เด็กโรงเรียนใหญ่อาจได้รับงบฯอุดหนุนน้อย เด็กโรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบฯอุดหนุนมากกว่า โดยไม่มีการใช้งบประมาณเพิ่มแต่นำมาเฉลี่ยกันใหม่
“ผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ควรเปิดประมูลทำโครงการอาหารกลางวัน ควรใช้วิธีการให้ผู้ที่จะมารับเหมาทำเมนูให้ดูว่า งบฯที่มีอยู่จะทำอาหารอะไรได้บ้าง และกระบวนการคัดเลือกควรให้มีคณะกรรมการนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้รับเหมาด้วย ทั้งนี้ งบฯโครงการอาหารกลางวัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะโอนเงินให้สถานศึกษาโดยตรงไม่ผ่าน สพฐ. ดังนั้น ข้อเสนอแนะเรื่องงบประมาณดังกล่าว เป็นเพียง กพฐ.เสนอแนะ สพฐ.ทำการวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อเสนอที่ประชุม กพฐ.และเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2562