เมื่อคนเราต้องก้าวข้ามฐานะที่เคยอยู่คู่กับคู่ชีวิตมาเป็น “พ่อแม่” ของ “ลูก” เราต่างก็อดที่จะอาศัยประสบการณ์เดิม ๆ ที่เราเคยเป็นลูก มาเป็นเข็มทิศนำทาง หรือพาหนะเดินทางเพื่อเลี้ยงดูลูกของเรา ไม่ว่า ประสบการณ์นั้นจะเป็นประสบการณ์ที่สุขหรือทุกข์ สำเร็จหรือล้มเหลว และที่สำคัญเป็นประสบการณ์ที่เหมาะสม หรือสมควรกับเรา ลูกของเราหรือไม่อย่างไร ด้วยว่าสภาวะและสถานการณ์ในวันนี้ของเรากับลูกย่อมแตกต่างจากวันเวลาที่เราเคยเป็นลูกและได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ นั้นมาอย่างชัดเจน
และหากประสบการณ์รวมทั้งวิธีการที่เราเคยมีแล้วใช้การไม่ได้ เข็มทิศนั้นทำให้เราหลงทาง พาหนะนั้นกับเครื่องร่วน จนเราอาจจะอ่อนใจ อ่อนแรง เมื่อลูกไม่เป็นดังใจ และเราไม่เป็นพ่อแม่ได้ดีเท่าที่เราคิด เมื่อนั้น เราก็อดไม่ได้อีกที่จะฝากผีฝากไข้ไว้กับ ครูที่โรงเรียนบ้าง หรือคุณปู่คุณย่าคุณป้าคุณอาบ้าง เพื่อนบ้านบ้าง หรือแม้แต่รัฐบาล แล้วแต่อาการไข้ อาการทางใจในฐานะที่เป็นพ่อแม่นั้น เป็นอย่างไร รุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากอาการรุนแรงก็ทำให้เราบ่อยครั้งรู้สึกว่า เราไม่มีกำลังหรือวิธีการที่จะดูแล “เขาหรือเธอ ลูก ๆ ของเรา” เอาเลย
“โรงเรียนพ่อแม่ลูก” เป็นอีกความพยายามหนึ่งของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นนักการศึกษา นักคิดนักปฏิบัติที่จะสรรหากิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้พ่อแม่ได้ปรับเข็มทิศ หรือเช็คพาหนะของตน ได้ทบทวนและใคร่ครวญประสบการณ์ และสร้างสรรค์ทางเลือกให้กับพ่อแม่ที่จะได้ดูแลลูก ๆ ด้วยกำลังของตน และพึ่งพาคำตอบหรือระบบจากภายนอกให้น้อยลง หรือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
“โรงเรียนพ่อแม่ลูก” เป็นมาอย่างไร?
โรงเรียนพ่อแม่ลูกเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการค้นคว้าทดลองของนักคิด นักเขียนปฏิบัติทางการศึกษา อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ผู้ยังใช้ชีวิตเป็นพ่อทางเลือก ผู้เลือกให้การศึกษากับลูกชายคนเดียวด้วยวิธีโฮมสกูล แทนที่จะส่งเข้าเรียนในกระแสหลักของระบบโรงเรียน เจ้าของผลงานเขียนและแปลทางการศึกษาหลายเล่ม โดยเฉพาะเล่มที่เป็นนิยมอย่างกว้างขวาง เช่น เด็กตามธรรมชาติ การศึกษาเพื่อความเป็นไท และโรงเรียนทำเอง เป็นต้น
กิจกรรมการเรียนรู้โรงเรียนพ่อแม่นี้อาจารย์วิศิษฐ์ได้เชื้อเชิญ และนำมาแบ่งปันกับผู้สนใจ ในนามของมูลนิธิสังคมวิวัฒน์ ในจังหวัดเชียงราย และได้นำกิจกรรมนี้ไปเผยแพร่ในจังหวัดอื่น ๆ
จากจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่เป็นบ้านเกิดของอาจารย์วิศิษฐ์ นักเรียนโรงเรียนพ่อแม่ในรุ่นแรก ๆ คือ อังคณา มาศรังสรรค์ หรือ ครูณา คุณแม่ลูกสอง เจ้าของกิจการโรงเรียน SMART & SMILE ในจังหวัดนครสวรรค์ได้ฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้โรงเรียนพ่อแม่ ใคร่ครวญ และลองปฏิบัติกับลูกและคนข้างเคียง อีกทั้งยังนำไปแบ่งปันให้กับพ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้ปฏิบัติงานกับเด็กและเยาวชน ทั้งภาครัฐและเอกชน จนสะสมประสบการณ์และความชำนาญในการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว
กิจกรรมเรียนรู้ “โรงเรียนพ่อแม่ลูก” ที่ว่านี้เป็นเช่นไร
กิจกรรมการเรียนรู้นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า เมื่อคนเราได้หันหน้าเข้าหากัน พูดคุยเสวนากันอย่างลึกซึ้ง เรามิได้เพียงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความเห็นของเราในเรื่องที่เรากำลังพูดคุยเท่านั้น แต่เราสามารถพบความรู้ใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาของเรา ซึ่งรวมทั้งได้พบความเป็นไปได้ใหม่ที่เราจะดูแลความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อคนอื่นและที่สำคัญกับตัวเราเองควบคู่กันไป โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เราต้องเผชิญกับความแตกต่างอย่างสุดขั้ว
การหันหน้าเข้าหากัน เพื่อค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในชีวิตในการเรียนรู้ของเราอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และการศึกษา ของอนาคต
อะไรเกิดขึ้นเล่า เมื่อเรานำพาให้พ่อแม่หรือลูก ๆ ได้กลับมาหันหน้าเข้าหากัน ได้พูดคุยเรื่องราวของกันและกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ให้ต่างได้ยินเสียงของกันและกัน และที่สำคัญได้ยินเสียงของตัวเอง เมื่อนั้นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะนำพาความเข้าใจและความผูกพันอันงดงามย่อมเกิดขึ้น
ชีวิตความสัมพันธ์เดิมที่เป็นสุขน่าพึงพอใจอยู่แล้ว เราอาจจะได้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะหล่อเลี้ยงความสุขนั้นให้ลึกซึ้งยั่งยืนยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากความสัมพันธ์ที่มีอยู่อาจจะกระอักกระอวลป่วนใจ เหมือนเดินบนทางอันขรุขระ เราอาจจะพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่คลี่คลายความคับข้องหมองใจนั้น ๆ หรืออย่างน้อยทำให้เราพบมุมมองใหม่ ๆ ที่จะเข้าใจอาการไม่ราบรื่นดังกล่าว
เราเรียนอะไร หรือเรียนอย่างไรใน “โรงเรียนพ่อแม่ลูก” ?
ผู้เข้าร่วมนั่งหันหน้าเข้าหากันเป็นวง เรานั่งกันอย่างผ่อนคลายบนพื้น หรือบนเก้าอี้ตามอัธยาศัย อย่างเอกเขนกตามสบาย การพูดคุยเสวนากันอย่างผ่อนคลาย (Optimum Learning Stage) เป็นสภาวะที่เกิดการเรียนรู้ระดับสูง
กิจกรรมพื้นฐานที่เรียกได้ว่า ใช้ตลอดการเรียนรู้ร่วมสองวันเป็นเวลาร่วม ๒๐ ชั่วโมง คือการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) การรับฟังอย่างไม่คาดหวัง และเปิดรับ ไม่พิพากษาตัดสิน โดยรับฟังทั้งข้อความสาระ และสาสน์จากใจของผู้พูด และเราก็ใคร่ครวญในเรื่องราวที่เราจะแบ่งปันในสาสน์ที่เราจะมอบให้ผู้อื่นอย่างไม่คาดคั้น
การรับฟังอย่างลึกซึ้งดังกล่าวจะช่วยนำพาให้เราได้เล่าเรื่อง(Story Telling) หรือได้ยินเรื่องราวของเพื่อน ๆ ในวงที่ซื่อตรงและอุดมไปด้วยเกร็ดชีวิตที่เป็นเคล็ดวิชาของพ่อแม่ หรือลูกที่เราได้เรียนรู้จากกันและกัน หรือเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่าของกระบวนกรที่ได้ค้นพบวิธีการพูดและฟังอย่างได้ผลกับคนในครอบครัว
เรามิได้เพียงแต่รับฟังกันและกันในวงเสวนา แต่เรานำพาตัวเราเองได้รับฟัง “เสียงภายใน”ของตัวเราเอง (Voice Dialogue) ซึ่งหมายถึงเสียงบางเสียงของเราที่เราอาจจะละทิ้ง หรือละเลยที่จะรับฟัง เป็นเสียงที่นำเราให้เข้าไปเฝ้ามองเฝ้าฟังตัวตนของเราเองที่เราอาจะจะไม่คุ้นเคย แต่เป็นเสียงที่นำเราไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะรู้จักตัวเองและคนสำคัญรอบข้างที่แตกต่างจากเราอย่างคนละขั้ว
ครูณาและคณะ เป็นผู้นำพากระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ตามจังหวะจะโคนที่เหมาะสมกับผู้เรียนรู้และสอดคล้องกับวาระของผู้เข้าร่วม สลับกับการบรรยายสั้น ๆ ในเนื้อหาที่เป็นพื้นฐานของการหันหน้าเข้าหากัน เช่น การทำงานของสมองสามชั้น โหมดทั้งสองของการดำรงชีวิต และทิศทั้งสี่ของการเป็นผู้นำ ซึ่งรวมความถึงการเป็นผู้นำครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชา "พูดอย่างไรให้ลูกฟัง ฟังอย่างไรให้ลูกพูด" ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญของโรงเรียนพ่อแม่
“โรงเรียนพ่อแม่ลูก” เพื่อใคร?
ในการจัดการเรียนรู้ “โรงเรียนพ่อแม่” ในกรุงเทพมหานครนี้ ชื่อนี้ได้แต่งเติมให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยชื่อใหม่คือ “โรงเรียนพ่อแม่ลูก” เนื่องด้วยการเรียนรู้นี้ นอกจากจะออกแบบมาให้พ่อแม่ได้เรียนรู้ที่จะดูแลลูก ๆแล้ว ก็ยังเหมาะสมสำหรับที่ลูก ๆ จะเรียนรู้ที่จะดูแลรับฟังพ่อแม่ (รวมทั้งคุณย่าคุณยายคุณตาคุณปู่ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่สามี) ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นและสำคัญอย่างยิ่งให้พ่อแม่ได้เรียนรู้ที่จะดูแลกันและกันในฐานะคู่ชีวิต
นอกจากนั้นการเรียนรู้นี้ก็เหมาะกับนักการศึกษา เช่นครู อาจารย์ผู้ทำงานกับเยาวชนทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ นักทำงานกับชุมชน และรวมทั้งผู้ทำงานสื่อมวลชน และสามัญชนที่กำลังแสวงหา ประสบการณ์ เรื่องราวการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะเป็นแนวทางให้กับสังคมยุคใหม่
“โรงเรียนพ่อแม่ลูก” การหันหน้าเข้าหากันสำหรับวันนี้ เพื่อวันหน้า?
สังคมในอนาคตของที่ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นเดิมที่จะเสวนาเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ ทั้งในครอบครัวและในชีวิตประจำวัน อีกทั้งความหวังที่จะสามารถค้นพบจุดร่วมท่ามกลางความแตกต่างทั้งความคิด ความรู้สึกและอุดมการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนใกล้ชิดและคนสำคัญในชีวิตของกันและกัน
อนาคตที่ดูเหมือนว่า “การหันหน้าเข้าหากัน”อย่างลึกซึ้งและจริงใจ ดูจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะเป็นหนทางรอดให้กับครอบครัว และสังคมที่กำลังต้องการเยียวยารักษาผู้คนให้เข้มแข็งเพื่อชีวิตที่ร่มเย็นของสมาชิกทุกคนที่จะมีชีวิตร่วมกัน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
voicedialoguework@gmail.com