นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ้างว่าได้ทำวิจัยเรื่องการศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษากรณีศึกษาโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษา เขตที่ 24, 25, 26 (กาฬสินธุ์,ขอนแก่น,มหาสารคาม )โดยได้ทำการศึกษาในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมาและมีข้อค้นพบในส่วนของผู้บริหารโรงเรียนว่ามีพฤติกรรมทุจริตในเรื่องการก่อสร้างเพราะมีอำนาจในการกำหนดสเปคงาน พิจารณาอนุมัติงบประมาณก่อสร้างได้โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่ ผู้บริหารสถานศึกษาถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลเพราะนั่งหลายเก้าอี้และมีเงินในมือ มีการทุจริตในเรื่องการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ ครุภัณฑ์ มีการฮั้วประมูลในทุกรูปแบบ ล้อกสเปคหนังสือ ตำรา ทำโครงการเอางบประมาณมาใช้ทั้งๆที่ไม่มีการก่อสร้างอะไร ซื้อใบเสร็จแลกเงินสดด้วยการออกใบเสร็จซื้อวัสดุสิ้นเปลืองเช่นอยากได้เงินห้าหมื่นก็ให้ร้านค้าออกใบเสร็จมาห้าหมื่นแต่จ่ายเงินซื้อใบเสร็จนั้นแค่ห้าพันบาท กระเช้าของขวัญที่มีคนมาให้ด้านบนเป็นของขวัญแต่ด้านล่างมีเงินวางเต็มไปหมด นั้น
ส.บ.ม.ท.เห็นว่าการที่ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ฯให้ข้อมูลกับสื่อเช่นนี้ทำให้สังคมมองภาพพจน์ของบรรดาผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาของจังหวัดกาฬสินธ์ ขอนแก่นและมหาสารคามได้รับความเสียหายในภาพรวมทั้งๆที่ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ตามที่ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ฯ กล่าวอ้าง ทั้งนี้เพราะ
1. การกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตโดยผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้กำหนดสเปคงานก่อสร้างนั้น ขอเรียนว่าในเรื่องงานก่อสร้างนั้นกฎหมายกำหนดให้ต้องใช้สเปคของส่วนราชการต่างๆที่มีสถาปนิกและวิศวกร เป็นผู้ออกแบบ ผู้บริหารโรงเรียนไม่มีอำนาจและไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะออกแบบได้ การกล่าวอ้างว่าผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้กำหนดสเปคเองจึงเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เป็นเท็จ ขาดความรับผิดชอบ
2. การกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตโดยผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติงบประมาณก่อสร้างได้ นั้น ก็เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ เพราะงบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างนั้นจะต้องได้รับการพิจารณาและจัดสรรจากส่วนราชการต้นสังกัด ผู้บริหารโรงเรียนไม่มีอำนาจในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณก่อสร้าง กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้
3. การกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตในเรื่องของการจัดซื้อหนังสือ ครุภัณฑ์ ล้อกสเปค หนังสือ ตำรา นั้น ก็เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จเพราะในการจัดซื้อหนังสือหรือตำราเรียนนั้น ในทางปฏิบัติ จะจัดซื้อโดยมีการสำรวจจากครูผู้สอนว่าจะใช้หนังสือตำราที่แต่งโดยใคร สำนักพิมพ์อะไร เพราะคุณครูเป็นผู้ใช้ตำราจึงเป็นผู้มีสิทธิเลือก และต้องซื้อหนังสือจากรายการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เท่านั้น หากผู้บริหารโรงเรียนเลือกเองจะถูกแรงต้านจากคุณครู ส่วนในเรื่องของการจัดซื้อครุภัณฑ์ นั้น ก็ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อตามอำเภอใจได้ ทุกอย่างต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของโรงเรียนและผู้มีหน้าที่จัดซื้อคือเจ้าหน้าที่พัสดุของโรงเรียนซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะเกี่ยวพันกับบุคคลหลายคน จึงไม่มีช่องทางที่จะทุจริตได้
4. กรณีมีการกล่าวอ้างว่าทุจริตด้วยการฮั้วประมูลนั้นขอเรียนว่าเป็นการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จเพราะในการจัดจ้างที่ต้องเป็นการประมูลนั้น จะต้องมีการดำเนินการตามระบบ e bidding มีการประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรับทราบและเสนอตัวเข้าแข่งขันและประมูลงานกันทางระบบคอมพิวเต้อร์ ที่มีการควบคุมและมีขั้นตอนมิให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปโดยทุจริต จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ
5. กรณีกล่าวหาว่าทำโครงการใดๆทั้งๆที่ไม่มีการก่อสร้างอะไรนั้น ข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีทางเป็นไปได้เพราะในการทำโครงการในเรื่องการก่อสร้างตามที่มีการกล่าวอ้างนั้นหากไม่มีชิ้นงานเกิดขึ้น เจ้าหน้าท่ีพัสดุก็จะไม่มีการตรวจรับพัสดุ คณะกรรมการตรวจการจ้างก็จะไม่ลงนามให้ และเจ้าหน้าท่ีการเงินไม่จ่ายเงินให้ การกล่าวอ้างเช่นนี้จึงเป็นความเท็จ
6. กรณีกล่าวหาว่ามีการซื้อใบเสร็จแลกเงินสดด้วยการออกใบเสร็จซื้อวัสดุสิ้นเปลืองเช่นอยากได้เงินห้าหมื่นก็ให้ร้านค้าออกใบเสร็จมาห้าหมื่นแต่จ่ายเงินซื้อใบเสร็จนั้นแค่ห้าพันบาท เป็นการกล่าวหาท่ีเป็นเท็จเพราะการจะนำใบเสร็จไปเบิกเงินได้นั้น จะต้องมีพัสดุให้ตรวจรับโดยเจ้าหน้าที่พัสดุ จะต้องมีบันทึกในทะเบียนคุมพัสดุ จะต้องเสนอเรื่องให้เจ้าหน้าท่ีการเงินพิจารณาตรวจสอบและจ่ายเงิน จึงจะจ่ายเงินให้ได้
7. กรณีกล่าวหาว่ากระเช้าของขวัญที่มีคนมาให้ด้านบนเป็นของขวัญแต่ด้านล่างมีเงินวางเต็มไปหมด นั้น เป็นการกล่าวหาลอยๆและไม่มีพยานหลักฐานใดประกอบ
การที่ผู้วิจัยนำเสนอข้อมูลปรักปรำและยืนยันข้อเท็จจริงเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้วิจัยต้องการสื่อให้เห็นว่าเป็นการทำวิจัยเชิงคุณภาพที่ผู้วิจัยได้เข้าไปคลุกคลีกับสถานศึกษาจนถึงขั้นได้รู้หรือได้รับทราบมาว่ามีการทุจริตโดยผู้บริหารโรงเรียนทั้งสามจังหวัดดังกล่าว การวิจัยใช้เวลาในการทำวิจัยเพียงสองปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ทั้งระยะเวลาและทั้งวิธีการ ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างนั้นรัฐได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการท่ีค่อนข้างรัดกุมมีการตรวจสอบได้ง่าย มีระบบและขั้นตอนที่สามารถสอบทานกันได้โดยคุณครูผู้มีหน้าท่ี การที่ผู้วิจัยนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จเช่นนี้ทำให้สังคมมีมุมมองที่ไม่ดีต่อผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งสามจังหวัดทางภาคอีสาน ทำให้สังคมทั้งประเทศมีมุมมองว่าผู้ประกอบวิชาชีพผู้บริหารโรงเรียนมัธยมในสามจังหวัดภาคอีสานเป็นคนประพฤติชั่ว ทุจริต ประพฤติมิชอบ ทั้งๆที่ข้อความที่กล่าวหาเป็นเท็จ อย่างไรก็ตามหากผู้บริหารโรงเรียนในสามจังหวัดภาคอีสานเห็นว่าตนเองได้รับความเสียหายจากการกล่าวหาเช่นนี้ ก็สามารถไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในทัองที่ที่เป็นพื้นที่ที่ได้เปิดอ่านเอกสารจากสื่อต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและพิสูจน์ว่าการกล่าวหานี้เป็นเท็จ อย่างไรก็ตามแม้นว่าจะมีผู้บริหารบางรายที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบจาก ปปช หรือ ส.ต.ง.ก็เป็นเพียงขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่ง ส.บ.ม.ท.รับทราบมาว่าอาจเป็นเพียงเรื่องการกระทำที่ผิดระเบียบ มิได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด
"การกล่าวหาหนักและชัดเจนขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้วิจัยมีข้อมูลและพยานหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาได้ จึงขอท้าให้ผู้วิจัยนำพยานหลักฐานที่มีอยู่ไปยื่นร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ทุจริตให้ได้รับโทษและไม่มีที่ยืนในสังคมต่อไป แต่ถ้าหากงานวิจัยนี้เป็นความเท็จ ไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน ก็ขอให้สังคมได้ตัดสินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของผู้วิจัย ต่อไป" นายรัชชัยย์ ฯกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย