สสส.ชวนน้อง ๆ มัธยมปลายและปวช.ที่มีไอเดียดี ๆ แนวคิดโดนๆ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดี ส่งแนวคิดและผลงานเข้าร่วมโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 2 “THAIHEALTH INNO Awards” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 200,000 บาท พร้อมด้วยโล่ ประกาศนียบัตร
มากกว่าการประกวดคือ ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน ผลงานที่ผ่านเข้ารอบจะมีนักนวัตกรรมระดับชาติร่วมเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาโครงงาน และเข้าร่วมค่ายอบรม “นักนวัตกรรมรุ่นใหม่” กับการฝึกทักษะที่จำเป็นของโลกนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ คือ แนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หรือส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีในด้านสุขภาพกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพว่า สสส. เชื่อในพลังคนรุ่นใหม่จึงได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (THAIHEALTH INNO Awards) เพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ การประกวดจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา ปวช. ซึ่งในแต่ละระดับที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย จะได้ประสบการณ์ครั้งสำคัญในการบ่มเพาะเป็นนักนวัตกรรุ่นใหม่ร่วมกับบุคคลชั้นนำของประเทศในด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 10,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาชิ้นงานให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้เยาวชนและสถานศึกษาที่สนใจสามารถดูรายละเอียดโครงการได้ที่
www.thaihealth.or.th/inno กำหนดส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 19 กรกฎาคม 2562
ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จากการประกวดในปี 2561 ในระดับมัธยมศึกษา ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ทีม WS Stable Inno จากโรงเรียนวชิรวิทย์ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยผลงานโครงงานนวัตกรรม “npk easy” ที่สร้างนวัตกรรมด้านกระบวนการแก้ปัญหาชุมชน ทั้งด้านโภชนาการ อาหารปนเปื้อนสารเคมี ปัญหามลพิษและระบบทางเดินหายใจจากการลักลอบเผาเศษใบไม้ และการสร้างรายได้ในชุมชน โดยใช้ทรัพยากรและคนในชุมชนเข้าร่วม โดยเข้าไปส่งเสริมอาชีพเกษตรปลอดสารเคมีและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น จิ้งหรีดแช่แข็ง ปุ๋ยมูลไส้เดือน ผักสลัดปลอดสาร เพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีและพัฒนาให้ชุมชนหนองป่าครั่งเกิดความยั่งยืน
ในระดับอาชีวศึกษาผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ “ทีมสี่สหาย-สายช่าง” จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โครงงานนวัตกรรม “เสาหลักนำทางจากยางพารา” ที่พัฒนาเสาหลักกิโลเมตรและเสากั้นโค้งที่สร้างขึ้นจากยางพารา ที่ เพื่อลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุพร้อมติดตั้งระบบการเตือนภัยและ GPS ที่สามารถแจ้งเหตุและส่งพิกัดสถานที่เกิดอุบัติเหตุผ่านระบบ LINE มายังศูนย์กู้ภัยเพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และตอบโจทย์ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอีกด้วย