สพฐ.ดันคลอดระเบียบกลุ่มโรงเรียน บังคับโรงเรียนในสังกัดรวมกลุ่ม 7- 15 โรงเรียน จับมือยกระดับคุณภาพการศึกษา-ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ชี้เป็นการกระจายอำนาจ ใช้พื้นที่เป็นฐาน
วันนี้ (2 ก.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้ “กลุ่มโรงเรียน” เป็นฐาน ซึ่งมีการร่างระเบียบ สพฐ. ว่าด้วยกลุ่มโรงเรียนขึ้น โดยให้โรงเรียนรวมกลุ่มไม่น้อยกว่า 7 โรงเรียน แต่ไม่เกิน 15 โรงเรียน มีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก ทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อยู่รวมกันในกลุ่ม เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้โรงเรียนช่วยเหลือกันยกระดับคุณภาพการศึกษา จัดการศึกษา และใช้ทรัพยากรบุคลากร อาคารสถานที่ร่วมกัน ซึ่งการจัดกลุ่มโรงเรียนจะยึดพื้นที่ภูมิศาสตร์ เขตการปกครอง และการคมนาคม โดยมีการตั้งคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนขึ้น มีผู้บริหารสถานศึกษาทุกโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่ม เป็นกรรมการ ซึ่งเขตพื้นที่ฯ จะเลือกประธาน 1 คน และรองประธาน 1 คน โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องวิชาการและการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการศึกษา เช่น การติดตามประเมินผลนิเทศ การประสานงานและวางแผนร่วมกัน และมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
“ปี 2534 เคยมีการจัดทำเรื่องกลุ่มโรงเรียนและได้ผลดี แต่ก็เงียบหายไป อีกทั้งขณะนี้โรงเรียนก็มีการจับกลุ่มกันอยู่แล้ว แต่เป็นเฉพาะเรื่อง เช่น กลุ่มสหวิทยาเขต กลุ่มสาระวิชา เป็นต้น ดังนั้น สพฐ.จึงรื้อฟื้นการจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดยให้มีระเบียบ สพฐ.รองรับ เพื่อให้เป็นไปในแนวปฏิบัติเดียวกัน สะดวกในการจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนอย่างมีระบบ โดยจะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมบร์อด กพฐ.วันที่ 12 ก.ค.นี้ เพื่อให้ข้อเสนอแนะและออกเป็นประกาศออกเป็นประกาศ ซึ่งในระเบียบดังกล่าว ยังมีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ด้วยว่า ให้สถานศึกษาดำเนินการจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนจัดกลุ่มโรงเรียนตามระเบียบนี้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ประกาศใช้ระเบียบนี้ คาดว่าทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ เชื่อว่าถ้าทำได้อย่างสมบูรณ์จะทำให้สามารถขับเคลื่อนการศึกษาได้ดีมาก เพราะเรายึดหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมเป็นหลัก ให้พื้นที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ” ดร. สุเทพกล่าว และว่า อีกทั้งขณะนี้ สพฐ.มีกลุ่มคัตเตอร์ที่นำเขตพื้นที่ฯ มารวมกัน 20 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มคัตเตอร์นี้จะคุมเขตพื้นที่ฯ อีกทีหนึ่ง ดังนั้นจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีคุณภาพและดูแลได้ใกล้ชิดมากขึ้น
ขอบคุณที่มาและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562