เลขาธิการ กพฐ. แจง จัดการศึกษาอนุบาล 3 ขวบ ไม่ซ้ำซ้อนกับโรงเรียนเอกชนและอปท.ยัน คำสั่ง คสช.เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ชี้ ชัดให้ อปท.และเอกชน ร่วมจัดการศึกษาได้
วันนี้ ( 1 ก.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 ทั้งระบบ และจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม กพฐ. เร็วๆ นี้ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะรวมถึงเรื่องการจัดการศึกษาระดับชั้นอนุบาลด้วย โดย สพฐ. ยืนยันว่า หลักเกณฑ์การรับนักเรียนในชั้นอนุบาล จะรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 2 และ 3 ที่มีอายุระหว่าง 4-5 ปี ซึ่งได้ยึดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ข้อที่ 2 ที่ระบุว่า ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด เตรียมการเพื่อจัดให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนได้รับการดูแล และพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท.และเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย แต่หากในบางพื้นที่ใดที่ไม่มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ เอกชนจัดไม่สามารถจัดการศึกษาได้ สพฐ.ก็จำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาในระดับอนุบาล 1 อายุ 3 ปี โดยจะต้องให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้จัดทำแผนในการรับเด็กตามความเหมาะสมของบริบทแต่ละพื้นที่
“หลักการจัดการศึกษาของ สพฐ. เรายึดหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียม และไม่ได้เป็นการจัดเพื่อแย่งรับเด็กแต่อย่างใด เช่น ในบางพื้นที่ไม่มีการจัดการเรียนการสอน จาก อปท. สพฐ.ก็จะเข้าไปดำเนินการ หรือบางพื้นที่มีเอกชนจัดการศึกษาอยู่แล้ว แต่ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง ในส่วนนี้ สพฐ.ก็จะเข้ามาร่วมจัดการศึกษา ดังนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ปกครองด้วยว่าจะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนใด อย่างไรก็ตามสำหรับร่างหลักเกณฑ์การรับนักเรียน หากได้ข้อสรุปแล้ว ผมจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาต่อไป”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2562