27 มิ.ย.62-นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวถึงสถานการณ์จำนวนผู้เรียนที่เข้าศึกษาในโรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวศึกษาของเอกชน ว่า ตนได้รับรายงานว่ากลุ่มผู้เรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวนเด็กลดลง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของประชากรน้อย ซึ่งระดับที่เห็นอย่างชัดเจนว่าจำนวนเด็กลดลง คือ ชั้นอนุบาล 3 ปี เนื่องจากโรงเรียนเอกชนมีการจัดการศึกษาในส่วนนี้อยู่เดิมแล้ว แต่รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มีการขยายชั้นเรียน เพื่อมารองรับในส่วนนี้ด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนขนาดกลาง และขนาดเล็กชัดเจน เนื่องจากจำนวนผู้เรียนลงลด รวมโรงเรียนยังต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการทั้งลดจำนวนห้องเรียน ลดจำนวนครูผู้สอน ทั้งนี้ตนยังได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ว่า ในปีการศึกษา 2562 มีโรงเรียนเอกชนที่เสนอขอเลิกกิจการแล้ว จำนวน 10-15 แห่ง ซึ่งคงต้องรอตัวเลขที่ชัดเจนจากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จากทั่วประเทศอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนอนุบาลขนาดเล็ก ที่สอนเฉพาะระดับชั้นอนุบาล และโรงเรียนขนาดกลาง
นายศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการวางแผนการดำเนินการในอนาคตของเอกชนนั้น เราต้องยอมรับว่าเป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างจะลำบาก เพราะนโยบายรัฐบาลอาจจะเปลี่ยน ส่วนหนึ่งที่โรงเรียนเอกชนกระทบอย่างมาก คือ นโยบายที่ให้ สพฐ. จัดอนุบาล 3 ปี เพิ่มขึ้น ซึ่งเอกชนไม่ได้มีปัญหาว่าจะจัดเพิ่มหรือไม่ แต่เราไม่มีปัญหาในส่วนของการจัดการศึกษาที่ซ้ำซ้อน เช่น โรงเรียน ก. ของรัฐบาล อยู่ติดกับ โรงเรียน ข. ของเอกชน ที่มีการจัดการสอนอนุบาล 3 ปีอยู่แล้ว เมื่อโรงเรียน ก. เปิดสอนอนุบาล 3 ปี เด็กก็จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียน ก. เพราะเป็นโรงเรียนของรัฐที่ได้รับการอุดหนุน ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของโรงเรียนเอกชนอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่โรงเรียนเอกชนสามารถทำได้ คือการตั้งรับ ทั้งเรื่องการลดจำนวนบุคลากร ไม่สร้างอะไรที่ใช้ต้นทุนเพิ่ม ควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่าไรก็ตาม ตนเตรียมข้อมูลที่จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) คนใหม่ อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำของนักเรียน ในส่วนของสิทธิขั้นพื้นฐาน เงินอุดหนุนรายหัวเด็กที่ควรจะปรับขึ้นไม่ให้เป็นภาระของผู้ปกครอง รวมถึงเรื่องการจัดการศึกษาระดับอนุบาล 3 ปี ในปีการศึกษา 2563 เนื่องจากเราต้องการความชัดเจนของนโยบาย ว่า ภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร เพื่อที่เอกชนจะต้องวางแผนการดำเนินการต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 27 มิถุนายน 2562