ในวิชาอุตุนิยมวิทยา การวัดความกดอากาศมีความสำคัญมาก เพราะในบริเวณความกดอากาศสูง (high pressure) หรือแอนติไซโคลน (anticyclone) มักจะมีอากาศดีและสงบ ส่วนบริเวณความกดอากาศต่ำ (low pressure) หรือไซโคลน (cyclone) มักจะมีอากาศไม่ดี เช่น พายุ หรือฝน
นักอุตุนิยมวิทยาใช้เครื่องมือ "บารอมิเตอร์" อย่างละเอียดสำหรับวัดความกดอากาศ หน่วยที่ใช้วัดความกดของอากาศนั้นอาจจะเป็นความสูงของปรอทเป็นนิ้วหรือเซนติเมตร ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือกิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรก็ได้ แต่ในปัจจุบันส่วนมากนิยมใช้หน่วยเป็นมิลลิบาร์ (millibar) เพราะเป็นหน่วยที่สะดวกกว่า ซึ่งเราจะเปรียบเทียบกันได้ตามหลักการคำนวณต่อไปนี้
ถ้าความสูงของปรอทเท่ากับ ๗๖ เซนติเมตรเราจะคำนวณความกดของอากาศได้ดังนี้
ความกด
= ความสูงของปรอท x ความหนาแน่นของปรอท x อัตราเร่งของโลก
= ๗๖ ซม. x ๑๓.๖ กรัม/ซม.๓ x ๙๘๐.๔ ซม./วินาที๒
= ๑,๐๑๓,๓๔๑ ไดน์/ซม.๒
จากมาตรา
๑ บาร์ (bar) = ๑,๐๐๐,๐๐๐ ไดน์ต่อตารางเซนติเมตร
๑ บาร์ = ๑,๐๐๐ มิลลิบาร์
๑ มิลลิบาร์ = ๑,๐๐๐ ไดน์ต่อตารางเซนติเมตร
ฉะนั้น ความกดสูง ๗๖ เซนติเมตรของปรอท
= ความสูงของปรอท ๒๙.๙๒ นิ้ว
= ๑,๐๑๓,๓๔๑ ไดน์ต่อ ๑ ตารางเซนติเมตร
= ๑๔.๗ ปอนด์ต่อ ๑ ตารางนิ้ว
= ๑,๐๑๓.๓ มิลลิบาร์
นอกจากบารอมิเตอร์ปรอทแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังใช้เครื่องวัดความกดอากาศอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า"บารอมิเตอร์แบบแอนิรอยด์" (aneroid barometer)คำว่า "แอนิรอยด์" แปลว่าไม่เปียก (คือแห้ง) หลักของแอนิรอยด์บารอมิเตอร์ก็คือ การใช้กล่องโลหะ ซึ่งดูดอากาศออกเป็นบางส่วน เป็นเครื่องวัดความกดของอากาศ เมื่อความกดของอากาศเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้กล่องโลหะนั้นขยายหรือหดตัว เราสามารถใช้คานต่อจากกล่องโลหะไปที่หน้าปัดเพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศได้
ถ้าเรามีความประสงค์จะบันทึกการเปลี่ยนแปลงความกดของอากาศตลอดชั่วโมง ตลอดวัน หรือตลอดเดือน ก็สามารถทำได้ โดยใช้แขนปากกาต่อกับกล่องโลหะ ซึ่งถูกดูดอากาศออกเป็นบางส่วน แล้วใช้แผ่นบักทึก ความกดม้วนรอบกระบอก ซึ่งหมุนด้วยลานนาฬิกา เครื่องบันทึกความกดอากาศนี้เรียกว่า "บารอกราฟ" (barograph)
ขอบคุณที่มา สนุกดอทคอม