ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่วิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ (Koibuchi College of Agriculture and Nutrition) ประเทศญี่ปุ่น ได้เชิญผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน และร่วมหารือกับ Mr.Shimasaki Hiroyuki ผู้อำนวยการ และคณะ ในเรื่องการทำความร่วมมือเพื่อจัดการเรียนการสอนสาขาเกษตรระหว่างประเทศ ระหว่าง สอศ.กับ วิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ (Koibuchi College of Agriculture and Nutrition)และ บริษัท อิเซะ ฟู๊ด (ISE Foods, Inc.) ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงหารือการจัดการหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกัน และการส่งนักศึกษาอาชีวะเกษตรเข้าเรียน พร้อมหาแนวทางให้นักศึกษาได้รับทุนการศึกษา
โดยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาเกษตร ทั้งนี้มีนางเจิดฤดี ชินเวโรจน์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ ณ วิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ ประเทศญี่ปุ่น
เลขาธิการ กล่าวต่อว่า สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรมีการนำร่องในการนำนักศึกษาเข้าเรียน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในปีการศึกษา 2560 จำนวน 25 คน จากสถานศึกษา 10 แห่ง ได้แก่
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี
- และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม
ซึ่งนักศึกษาได้เข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาปศุสัตว์ ใน บริษัท อิเซะ ฟู้ด (ISE Foods, Inc.) ประเทศญี่ปุ่นด้วย (เป็นสถานประกอบการผลิตไข่ไก่ขนาดใหญ่) ทั้งนี้ สอศ.ได้หารือถึงความร่วมมือในอนาคตเพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรทั่วประเทศ ได้มีโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการเรียน มีทักษะเฉพาะทาง รวมถึงได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ พร้อมจะเป็นเกษตรก้าวหน้า (Smart Farming) ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนี้ จะได้รับวุฒิการศึกษาของวิทยาลัยเกษตรและโภชนาการโคอิบูชิ ประเทศญี่ปุ่น และของสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรในประเทศไทย หรือเรียกว่าการจัดการศึกษาในระบบทวิวุฒิ
นอกจากนี้ได้หารือถึงการจัดการเรียนให้นักเรียนที่อยู่ชายขอบ นักเรียนขยายโอกาส หรือนักเรียนพักนอน ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะตนเอง ให้เกิดความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเริ่มตั้งแต่เยาว์วัย จนสามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาตนเองและบ้านเกิดได้ ให้เป็นไปตามนโยบาย"สะพานเชื่อมโยง สอศ. และ สพฐ." เพื่อพัฒนานักเรียนร่วมกัน เลขาธิการ กล่าวปิดท้าย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก อีทีวีแม็ค วันที่ 26 มิถุนายน 2562