สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผน กำกับ ติดตาม การดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบาย “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ภายใต้แนวคิด “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและมีความพร้อมในการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม งานอาชีพ และสุขภาพอนามัย สามารถให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับนักเรียนในท้องถิ่นชนบท และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ เอกชน บ้าน วัด รัฐ โรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 8,224 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต จำนวน 7,079 โรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 42 เขต จำนวน 1,145 โรงเรียน
ในการนี้ ศูนย์ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (ศรต.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผน กำกับ ติดตาม การดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อ รายงานความสำเร็จในการดำเนินงานโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล และจัดทำแผนโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ปีงบประมาณ 2563 และประเมินความก้าวหน้าในการพัฒนานักเรียนตามตัวชี้วัดรายชั้นปี ปีการศึกษา 2562 โดยมี ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เดินทางมาพบปะและบรรยายพิเศษให้กับผู้เข้าอบรมได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ และ ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมในวันแรก
สำหรับโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลมีจุดเน้น คือ พัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้านการจัดการศึกษาของประเทศ สร้างโรงเรียนให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เน้นผู้บริหารและครูที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้เรียนโดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุน งบประมาณ สถานที่ แหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้ บุคลากร จำแนกเป็น 3 ด้านสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการศึกษา และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ดังนี้
ด้านผู้บริหารสถานศึกษา จะได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อม 5 เรื่อง คือ
1) ภาวะผู้นำ
2) ภาษาและการสื่อสาร (อย่างน้อย 2 ภาษา ไทย/อังกฤษ)
3) การบริหารสถานศึกษา
4) การบริหารแบบมีส่วนร่วม และ
5) การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับชุมชน
ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อม 8 เรื่อง คือ
1) ครูครบชั้นเรียน ตรงสาขาวิชา มีบุคลากรฝ่ายสนับสนุน เจ้าหน้าที่ธุรการ นักการภารโรง และครูมีทักษะวิชาชีพ
2) หลักสูตรการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้
3) การจัดการชั้นเรียน
4) ภาษาและการสื่อสาร (อย่างน้อย 2 ภาษาไทย/อังกฤษ)
5) การจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครูมีศักยภาพในการแยกความสามารถของนักเรียนในชั้นได้เป็นรายบุคคล
6) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน
7) การพัฒนาตนเองแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้
8) ครูสามารถใช้เทคโนโลยี ICT ในการจัดการเรียนการสอน และการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
ด้านนักเรียน จะได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อม 11 เรื่อง คือ
1) ความเป็นพลเมืองดี (Moral Quotient) ตามค่านิยม 12 ประการ
2) ทักษะชีวิต (ผ่านกระบวนการลูกเสือ)
3) พัฒนาการทางสติปัญญา (Intelligence Quotient)
4) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient)
5) ทัศนคติ (Attitude)
6) พัฒนาการด้านร่างกายสมวัย (Physical)
7) จบการศึกษา - มีงานทำ สามารถประกอบอาชีพได้ (ได้รับการแนะแนวอย่างถูกต้องและรอบด้าน)
8) ภาษาและการสื่อสาร (อย่างน้อย 4 ภาษา 1.ไทย 2.อังกฤษ 3.จีน 4.ญี่ปุ่น/เกาหลี/ฝรั่งเศส)
9) เด็กเก่ง ICT 10) มีทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และ
11) รักการเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมรวมทั้งสิ้น 450 คน ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต จำนวน 225 คน และประธานโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 225 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้มองเห็นภาพอนาคตของโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลที่เราจะพัฒนาร่วมกัน คือ เป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา มีความเข้มแข็งด้านวิชาการ สมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดนตรี กีฬา ศิลปะ และจิตสาธารณะตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพร้อมทางด้านกายภาพสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุครุภัณฑ์ สะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย เป็นโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาพื้นฐานด้านอาชีพ และการเป็น “โรงเรียนของชุมชน” ที่มีความร่วมมือกับท้องถิ่น การให้บริการโรงเรียนเครือข่ายและชุมชนอย่างเข้มแข็งต่อไป
ที่มาข้อมูลจาก คณะทำงานศูนย์ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (ศรต.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา