“สรนิต”เผย14 ประเด็นเกิดใหม่ในกระทรวง อว. ที่สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อการเตรียมคนไทย สู่ศตวรรษที่ 21 นำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การปรับบทบาทของอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)" ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ว่า ขณะนี้มี 14 เรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอว.ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนภารกิจในการเตรียมคนไทย สู่ศตวรรษที่ 21 และนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ คือ
1. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)ที่เป็นการควบรวมสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
2.อว. เป็นกระทรวงใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มีบุคลากรในสังกัดเกิน 1 แสนคน งบประมาณแผ่นดินรวม 139,000 ล้านบาท และมีสถาบันวิจัย 20 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ 75 แห่ง และเอกชน 75 แห่ง อยู่ในความดูแล
3.มีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็น Super Board ดูแลเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในหลายกระทรวง เพื่อเป็นภาพรวมของประเทศ
รศ.นพ.สรนิต กล่าวต่อไปว่า
4.สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสภา ในการประมวลทิศทางของประเทศ (future plan) แผนแม่บทอุดมศึกษา แผนแม่บทการวิจัย นวัตกรรม และงบประมาณ
5.ระบบวิจัยจะถูกแบ่งอย่างชัดเจน และแต่ละหน่วยงานที่ดูแลจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
6.มีการจัดระบบงบประมาณด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สำนักงบประมาณจะดูแลงบตามภารกิจพื้นฐาน (Function) และงบลงทุน มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยจะต้องเสนอไปตามขั้นตอนปกติ แต่สำหรับงบยุทธศาสตร์ งบวิจัย จะมีคณะกรรมการพิจารณาซึ่งแบ่งออกเป็นสองชุด คือด้านอุดมศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
7.ตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขึ้นเป็น program bond มีลักษณะ Multi Year และ Multi Agency หลายมหาวิทยาลัย หลายสถาบัน หลายหน่วยงานจะมาทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยหวังให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน
8.มีภาคเอกชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการต่างๆและมีส่วนร่วมมากขึ้น
9.กรมวิทยาศาสตร์บริการ จะปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรมหาชน ใน 3 ปี และจะประเมินสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเปลี่ยนเป็นองค์กรมหาชน หรือจะไม่เปลี่ยนก็ได้
รศ.นพ.สรนิต กล่าวอีกว่า
10. โครงสร้างคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) จะเปลี่ยนไป มีคณะกรรมการทั้งจากภาคมหาวิทยาลัย อดีตนายกสภาฯ อดีตอธิการบดีเข้ามาเป็น กกอ.ได้ และมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมากขึ้น
11. คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษา (กมอ.) จะมีบทบาทมากขึ้น สามารถจะรับนโยบายและสั่งการได้ ผ่านรัฐมนตรีหรือ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่อาจารย์ประจำอยู่ในมหาวิทยาลัย)
12. ให้มีงานวิจัยเรื่องใหม่ได้ มีหลักสูตรที่ไม่ต้องผ่าน กกอ.มาตรฐานอุดมศึกษาได้ และทรัพย์สินทางปัญญาที่จะให้ ผู้วิจัยมีสิทธิในผลงานมากขึ้น
13. จัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ฐานข้อมูลวิจัยจัดทำโดย วช. ฐานข้อมูลอุดมศึกษาจัดทำ โดยสป.อว.จะเริ่มทำงานโดยจะมีมาตรการสำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่ส่งข้อมูล จะใช้ระบบ block chain หรือระบบฐานข้อมูลอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่แล้ว เพื่อรวบรวมไปเป็นฐานข้อมูลใหญ่ของอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องรับผิดชอบข้อมูลของตนเอง และ
14 มีคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการปฏิรูป วาระการทำงาน 4 ปี เพื่อติดตามการทำงานให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2562