"เอกชัย กี่สุขพันธ์" แนะรมว.ศึกษาธิการคนใหม่ ควรกระจายอำนาจการบริหารเต็มรูปแบบจาก ศธ.ให้จังหวัดรับผิดชอบดูแลการศึกษาของจังหวัดอย่างแท้จริง จ้างมืออาชีพมานั่งเก้าอี้ ศธจ.แทนการตั้งข้าราชการ
วันนี้ (10 มิ.ย.) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.)และ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)คนใหม่ ซึ่งประเด็นที่ รมว.ศธ.คนใหม่ควรพิจารณาคือ การกระจายอำนาจการบริหารเต็มรูปแบบจากกระทรวงศึกษาธิการให้จังหวัดรับผิดชอบดูแลการศึกษาของจังหวัดอย่างแท้จริง และควรรีบดำเนินการตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัดโดยเร็ว ทั้งนี้หากไม่สามารถกระจายอำนาจการบริหารเต็มรูปแบบได้ครบทุกจังหวัดก็ให้พิจารณาจังหวัดที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเป็นจังหวัดนำร่องก่อนได้ และขณะที่ยังไม่สามารถกระจายอำนาจให้จังหวัดรับผิดชอบก็ให้ทบทวนหาทางออก เพื่อแก้ปัญหาการไม่ลงรอยกันในเรื่องการใช้อำนาจการบริหารการศึกษาของศึกษาธิการจังหวัด กับผูอำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งขณะนี้สร้างความสับสนกับผู้ปฏิบัติในระดับพื้นที่มาก ทั้งที่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาของเด็กเหมือนกัน แต่การทำงานไม่สามารถประสานกันให้ดีเท่าที่ควร เพราะต่างฝ่ายต่างยึดติดอยู่กับอำนาจของตัวเอง
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตเมื่อมีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้จังหวัดรับผิดชอบ ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ควรจ้างเป็นพนักงานราชการ เพื่อให้ได้มืออาชีพเข้ามาบริหารการศึกษาจังหวัด ให้เงินเดือน 120,000 บาท ทำสัญญา 4 ปี ประเมินผลงานทุกปี หากไม่สามารถทำงานได้เมื่อคณะกรรมการศึกษาจังหวัดมีการเตือนแล้วไม่ดีขึ้นสามารถเลิกจ้างได้ ซึ่งจะได้นักบริหารการศึกษามืออาชีพจริงๆ ไม่ใช่ข้าราชการที่ทำงาน โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของจังหวัด นอกจากนี้ควรเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถควบรวมได้ โดยเน้นนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนคุณภาพให้เห็นผล สร้างให้เป็นโรงเรียนหลักที่สามารถดึงดูดผู้ปกครองให้ส่งบุตรหลานมาเรียน สำหรับโรงเรียนห่างไกล ชายขอบ ทุรกันดาร ต้องส่งเสริมให้มีการจัดเรือนพักนอนในกรณีที่จำเป็น เพื่อเพิ่มจำนวนนักเรียนและช่วยให้มีครูครบชั้นได้เร็วขึ้น ส่วนกรณีโรงเรียนห่างไกลเมื่อปิดตัวหรือควบรวมแล้วจังหวัดควรจัดงบประมาณให้มีบริการรถรับส่งนักเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม และสร้างแรงจูงใจให้แก่ครูที่จำเป็นต้องย้ายไปสอนที่อื่นเมื่อโรงเรียนยุบหรือควบรวมไปแล้ว โดยให้ครูได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง หรือค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นด้วย
“หากกระจายอำนาจการบริหารให้จังหวัดเต็มรูปแบบแล้ว ควรพิจารณาปรับโครงสร้างการบริหารของศธ.ให้เล็กลง เพราะทำหน้าที่กำกับ ติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายการศึกษาของชาติเท่านั้น และเรื่องความก้าวหน้าของอาชีพครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษาไม่ใช่ทำแต่เอกสารวิชาการอีกต่อไป แต่ต้องสร้างผลงานเชิงประจักษ์เช่นนวัตกรรมการบริหาร นวัตกรรมการเรียนรู้ หรือผลงานอื่นๆที่มีผลงานชัดเจนจับต้องได้ และส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนอย่างชัดเจน “รศ.ดร.เอกชัย กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2562