ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ที่จังหวัดพิษณุโลก จะมีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในโครงการสะพานเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
ซึ่งการแนะแนวให้เข้าเรียนต่ออาชีวะไม่ใช่ไปแค่ 1-2 วันหรือ 1-2 ชั่วโมง แล้วจะทำให้เด็กอยากเรียนสายอาชีพ สิ่งสำคัญคือเด็กต้องค้นพบว่า ตนเองสามารถเรียนได้ ชอบและมั่นใจที่จะเรียน ซึ่งวิธีการต้องเริ่มตั้งแต่ขณะที่เด็กเรียนอยู่ชั้น ม.ต้น โดยให้เด็กได้ทดลองเรียนในเรื่องที่คิดว่าจะเรียนต่อในสายอาชีวะ
โดยมีกลุ่มประธานอาชีวศึกษาจังหวัด ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา 23 แห่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)ทั่วประเทศ พร้อมด้วยศึกษานิเทศก์ ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ของ สพฐ. เข้าร่วม
เพื่อรับนโยบายในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนร่วมกันจัดทำแผนหลักสูตรเชื่อมโยง แนวปฏิบัติและประเมินผล เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านวิชาชีพของประเทศ
โดยนำโมเดลการจัดการศึกษาของจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุพรรณบุรี มาเป็นต้นแบบ โดยมีการแยกจัดทำหลักสูตรของจังหวัด ที่จะมีการนำหลักสูตรพื้นฐานของอาชีวะไปไว้การเรียนการสอนของ สพฐ.โดยจะเชิญเลขาธิการ กพฐ. ดร.สุเทพ มาร่วมงานด้วย ในวันงานดังกล่าว
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สอศ.และ สพฐ. ในสมัยที่ผมยังเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ ยังเป็นเลขาธิการ กอศ. โดยได้มีการลงนามที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี
ซึ่งขณะนี้ในเรื่องรายวิชาพื้นฐานที่เป็นอาชีพ สพฐ.ทำไว้เยอะแล้ว แต่สิ่งที่ สพฐ.ทำอาจยังไม่ครอบคลุมสาขาวิชาที่เด็กจะได้ค้นพบตัวเอง ในจุดนี้อาชีวะจะได้เข้าไปแนะนำและร่วมมือกันทำหลักสูตรสั้นๆ อบรมหรือช่วยสอนครูให้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก อีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา