สอศ.ตีปี๊บชวนวิทยาลัย ผลิตหลักสูตรอบรมป้อนระบบอีเทรนนิ่ง เพิ่มช่องทางให้ครูอาชีวะ เก็บชั่วโมงอบรมพัฒนาตนเอง เพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ
วันนี้ (5 มิ.ย.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการขับเคลื่อนงานพัฒนาครูเพื่อให้มีและเลื่อนวิทยาฐานะ ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ หรือ ว.21 โดยมีการนับชั่วโมงการอบรมและพัฒนาเป็นคุณสมบัติหนึ่ง นั้น สอศ.จะแจ้งไปยังวิทยาลัยต่างๆว่า นอกจากการเข้ารับการอบรมตามโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือ คูปองพัฒนาครูแล้ว ยังมีช่องทางอื่นๆที่ครูสามารถอบรมพัฒนาตนเองแล้วนำมานับเป็นชั่วโมงพัฒนาได้ เช่น การเข้ารับอบรมในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย หรือองค์กรต่างๆ ที่จัดขึ้น ซึ่งต้องมีหัวข้อและประเด็นครบตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด และจัดอบรมตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2560 โดยให้วิทยาลัย หรือ หน่วยงานส่งหลักสูตรนั้นๆมาพร้อมรายชื่อผู้ที่อบรมผ่าน ซึ่งทาง สอศ.มีกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตร และคณะกรรมการรับรองหลักสูตร ซึ่งมีตนเป็นประธาน เพื่อให้รับรองต่อไป เพราะ ก.ค.ศ.ได้ให้อำนาจ สอศ.ในการรับรองหลักสูตรแล้ว
ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สอศ.กำลังขยายช่องทางใหม่ คือ การอบรมในระบบอีเทรนนิ่ง ผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถโต้ตอบกันในกิจกรรมต่างๆ และประเมินหลังการอบรมได้ โดย สอศ.ส่วนกลาง จะรวบรวมหลักสูตรการอบรมต่างๆมาไว้ในระบบ พร้อมทั้งสนับสนุนให้วิทยาลัยอาชีวะทั้งของรัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จัดทำหลักสูตรและนำมารวบรวมไว้ในระบบอีเทรนนิ่ง เพื่อให้ครูได้เข้ามาลงทะเบียนอบรม ซึ่งหากแต่ละวิทยาลัยผลิตหลักสูตรได้ 10 บทเรียน ก็จะทำให้มีถึง 400-500 บทเรียน ขณะเดียวกันจะมีการรณรงค์ครูอาชีวะทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เข้ามาอบรมในระบบนี้ เพราะครูเอกชนก็ต้องนำผลการอบรมพัฒนาไปเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
“การใช้คูปองครูขณะนี้มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ซึ่งทางสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ได้จัดสรรงบฯสนับสนุนให้ครูเข้ารับการอบรมได้ 7,000 บาท ต่อคน แต่ได้ไม่ครบทุกคน ขณะที่วิทยาลัยก็ไม่สะดวกในการงบฯของสถานศึกษามาใช้ให้ครูเดินทางไปอบรม ขณะเดียวกันการจัดให้อบรมแบบเผชิญหน้า ครูก็มีภาระการสอนทั้งภาคเช้า-ภาคบ่าย ทำให้ไม่สะดวกในการเข้าอบรม ซึ่งการอบรมผ่านช่องทางอีเทรนนิ่ง จะทำให้ครูได้รับความสะดวกมากขึ้น” ดร.บุญรักษ์ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562