เลขาธิการ กพฐ. ถก ผู้บริหาร สพฐ. วางแผนปรับระบบโภชนาการนักเรียนทุกระดับชั้น กำชับ ทุกโรงเรียนต้องจัดอาหารเช้าและอาหารกลางวันให้เด็ก ครบ 5 หมู่ หวั่นเด็กขาดสารอาหารส่งผลกระทบต่อการเรียน
วันนี้ (4 มิ.ย.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งตนมีความเป็นห่วงเรื่องโภชนาการในเด็กที่ต้องได้รับสารอาหารให้ครบ โดยสพฐ.พบข้อมูลนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ระดับอนุบาล จำนวนทั้งหมด 955,320 คน แบ่งเป็น มีนักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 143,302 คน คิดเป็นร้อยละ 15 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 103,038 คน คิดเป็นร้อยละ 10.79 นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 111,361 คน คิดเป็นร้อยละ 11.66 ระดับประถมศึกษา จำนวน 3,084,336 คน แบ่งเป็น มีนักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 297,072 คน คิดเป็นร้อยละ 9.63 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 243,047 คน คิดเป็นร้อยละ 7.88 นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 583,831 คน คิดเป็นร้อยละ 18.93 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 1,648,359 คน มีนักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 84,185 คน คิดเป็นร้อยละ 5.11 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 86,574 คน คิดเป็นร้อยละ 5.25 มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 370,298 คน คิดเป็นร้อยละ 22.46 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 916,691 คน นักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 53,138 คน คิดเป็นร้อยละ 5.80 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 46,060 คน คิดเป็นร้อยละ 5.02 นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 215,527 คน คิดเป็นร้อยละ 23.51
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าว สพฐ.มีความห่วงใยเรื่องโภชนาการของนักเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะโครงการอาหารกลางวันอย่างเดียว แต่ตนต้องการให้เด็กทุกคนได้รับอาหารครบ 5 หมู่ในช่วงเช้าด้วย เพราะจากการลงพื้นที่พบว่า ในโรงเรียนมีเด็กบางคนก็ยังไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ดังนั้นจึงขอความร่วมมือโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาช่วยกันดูแลเรื่องโภชนาการของเด็กทุกระดับชั้นให้ได้รับประทานอาหารครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการจัดสรรให้มีโครงการอาหารเช้า แต่โรงเรียนไหนที่มีศักยภาพมีความพร้อมก็สามารถดูแลเด็กในเรื่องอาหารการกินให้ครบถ้วน หรือหากโรงเรียนใดจะบริหารจัดการด้วยการทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวก็สามารถนำผลผลิตเหล่านั้นมาปรุงอาหารให้เด็กได้โดยที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ
“เรื่องโภชนาการของนักเรียนเป็นเรื่องที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ได้เคยทรงมีพระราชดำรัสในการประชุมเรื่องโภชนาการว่า แม้ในประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาคเอเซีย แต่ก็ยังมีปัญหาการขาดอาหารและสุขภาพอนามัย การเจ็บป่วยที่น่าจะรักษาและป้องกันได้ด้วยการปฎิบัติให้ถูกต้องในเรื่องอาหารการกิน ความสะอาด และสุขลักษณะสิ่งแวดล้อม และยังมีเด็กในจำนวนไม่น้อยยังมีปัญหาการขาดสารอาหารเพราะพ่อแม่ไม่รู้วิธีการดูแลที่เหมาะสม ดังนั้นอาหารจึงมีความจำเป็นและคือรากฐานสำคัญของสุขอนามัยที่ดีตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา ทั้งนี้ สพฐ.จะน้อมนำพระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านทรงมีความเป็นห่วงเรื่องอาหารการกินของเด็กไทยมาสู่การปฎิบัติให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม พร้อมกับกำชับให้ทุกเขตพื้นที่ดูแลให้เด็กทุกคนกินดีอยู่ดี เพื่อการบริโภคสารอาหารได้ครบจะส่งผลต่อการเรียนของเด็ก” ดร.สุเทพ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2562