เลขาธิการ กพฐ.ถก ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่งประเทศ มอบโจทย์ใหญ่ขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการมีงานทำ รับนโยบายต่างๆของสพฐ.มีทั้งดีและต้องปรับปรุง เล็งทบทวนนโยบายคูปองพัฒนาครู แต่ขอฟังปัญหาจากระดับพื้นที่ก่อน
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี จ.ปทุมธานี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (สพท.) โดยดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายเรื่องทิศทางการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ขณะนี้ผู้บริหารการศึกษารวมถึงตนกำลังหลงผิดเรื่องการจัดการศึกษา ซึ่งมุ่งแต่สร้างให้เด็กเรียนเก่ง เรียนดี เรียนอย่างมีความสุข และมุ่งสู่ใบปริญญาโดยกลับพบว่าเรียนจบแล้วแต่ไม่มีงานทำ แต่ความจริงแล้วคือเราต้องจัดการเพื่อการมีงานทำ ดังนั้นการบริหารงานจากนี้เราต้องสร้างสะพานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ สพฐ. เช่น การจัดหลักสูตรอาชีพในโรงเรียนสพฐ. เป็นต้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาได้เข้ามาแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพในโรงเรียน เนื่องจากพบว่าโรงเรียนบางแห่งปิดกั้นไม่ให้มีการเข้ามาแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพ ทั้งนี้ตนเชื่อมั่นว่าเขตพื้นที่ถือเป็นคีย์แมนสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา เพราะใกล้ชิดกับโรงเรียนมากที่สุด ซึ่งตนจะขอรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาในพื้นที่จากเขตพื้นที่ เพราะไม่อยากมอบเป็นนโยบายท็อปดาวน์ที่สั่งการจากส่วนกลางลงไปเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เขตพื้นที่ช่วยคิดและสะท้อนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้มีนโยบายที่ตนอยากฝากให้เร่งทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมคือ จะต้องทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ภายใน 2 เดือน เนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้ตนลงพื้นที่รับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านทรงสอบถามและให้ความสำคัญเรื่องการอ่านภาษาไทยของเด็กเป็นอย่างมาก และในวันที่ 29 ก.ค.สพฐ.จะจัดงานวันภาษาไทยอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยมีการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ส่วนนโยบายเรื่องโรงเรียนประจำตำบลตนจะปรับการดำเนินการใหม่ เพราะจากการลงพื้นที่และได้รับเสียงสะท้อนมาพบว่า มีโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับประเทศอยู่แล้วแต่กลับได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่งในความรู้สึกของโรงเรียนนั้นเหมือนถูกลดเกรดลงจึงอยากให้มีการทบทวนการดำเนินการใหม่ สำหรับนโยบายโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ partner ship school และโรงเรียนประชารัฐที่มีการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษานั้น โดยตนต้องการจะขยายผลแนวคิดหลักการดังกล่าวมอบโจทย์ให้เขตพื้นที่ดึงภาคเอกชนมาร่วมสนับสนุนการศึกษานำร่องเขตพื้นที่ละ 5 โรง ซึ่งเราต้องทำงานเชิงรุก เพราะการจัดการศึกษาจะมารองบประมาณจากรัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ขณะเดียวกันโครงการคูปองพัฒนาครูแบบครบวงจรนั้นตนเห็นว่านโยบายนี้มีหลักการที่ดี แต่กลับพบว่ามีปัญหาในการปฎิบัติ ดังนั้นเรื่องคูปองครูจะยกเลิกหรือไม่นั้นตนขอรับฟังเสียงสะท้อนจากเขตพื้นที่อีกครั้งว่าแนวทางกาาพัฒนาครูในอนาคตจะมีรูปแบบอย่างไรบ้าง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562