นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้เสนอแนวคิดที่จะให้มีการยุบโรงเรียนประมาณ 15,000 โรงเรียนเนื่องจากมีจำนวนนักเรียนแต่ละโรงเรียนน้อยมากและนักเรียนมีความสะดวกในการไปเรียนที่โรงเรียนอื่น หลายโรงเรียนหาเหตุไม่ยอมปิดโรงเรียน บางโรงเรียนอ้างว่าชุมชนไม่ยอมให้ยุบแต่ที่จริงแล้วผู้บริหารโรงเรียนไปให้ข้อมูลกับชุมชนทำนองไม่ให้ยุบ บางโรงเรียนไม่ยอมยุบโรงเรียนแต่กลับใช้วิธีควบรวมเช่นนำนักเรียนชั้น ป.1-3 ของโรงเรียนหนึ่งไปควบรวมกับอีกโรงเรียนหนึ่งแล้วนำนักเรียนชั้น ป.4-6 ของโรงเรียนหนึ่งไปควบรวมกับอีกโรงเรียนหนึ่ง และประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังให้ข้อมูลอีกว่ารายงานการวิจัยของธนาคารโลกพบว่ากระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณมากขึ้นแต่การศึกษาไม่ดีขึ้น และต่อมานายสุเทพ ชิตวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยยืนยันว่าตนมีนโยบายไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กแต่แนวทางในการแก้ปัญหานั้นจะต้องมีการบูรณาการร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น การยุบโรงเรียนจะต้องเป็นฉันทามติร่วมกันของทุกฝ่าย นั้น นายรัชชัยย์ ฯเห็นว่าเรื่องนี้ต้องชื่นชมในความกล้าหาญและความเป็นผู้นำอย่างแท้จริงของนายสุเทพฯที่ไม่ผลีผลามตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ เชื่อว่าการที่นายสุเทพฯมีเหตุผลเช่นนี้เพราะมีประสบการณ์ในการเป็นครูในท้องถิ่นและผ่านประสบการณ์การเป็นผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับปัญหาจึงรับรู้ถึงความเดือดร้อนของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างดี
นายรัชชัยย์ฯยังได้เปิดเผยอีกว่าการคิดจะยุบโรงเรียนนั้นตนอยากให้ผู้เสนอแนวคิดดังกล่าวได้คิดถึงจิตใจของครู นักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นนั้นว่าจะกระทบกระเทือนใจและเพิ่มความลำบากให้บุคคลเหล่านั้นแค่ไหน การจัดตั้งโรงเรียนในอดีตนั้นได้มีการคำนึงถึงระยะทางที่มีความห่างกันมากพอสมควรที่จะตั้งโรงเรียน การยุบโรงเรียนหนึ่งแล้วให้นักเรียนไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งโดยอ้างว่ามีความสะดวกในการเดินทางนั้นเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีข้อมูลสนับสนุน ส่วนที่มีการอ้างว่าบางโรงเรียนอ้างว่าชุมชนไม่ยอมให้ยุบแต่ที่จริงแล้วผู้บริหารโรงเรียนไปให้ข้อมูลกับชุมชนทำนองไม่ให้ยุบ นั้น อยากให้ผู้ให้ข้อมูลนี้ได้กรุณาระบุไปเลยว่าเป็นใครโรงเรียนใดอยู่ที่ไหน มีกี่โรงเรียน เพื่อจะได้ให้ผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการตามท่ีเห็นสมควรต่อไป การกล่าวอ้างโดยไม่ระบุตัวตนนั้นเป็นการให้ร้ายบุคคลากรในวิชาชีพผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่สามารถยอมรับได้
การที่มีการกล่าวอ้างว่าจากรายงานการวิจัยของธนาคารโลกว่ากระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณมากขึ้นแต่การศึกษาไม่ดีขึ้น จึงต้องมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เห็นว่างบประมาณที่ใช้มากขึ้นแต่การศึกษาไม่ดีขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง แต่งบประมาณที่เพิ่มขึ้นของกระทรวงศึกษาธิการนั้นได้ใช้ไปในทางที่ไม่ได้มีผลโดยตรงในเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษากล่าวคือนำไปใช้จ่ายในเรื่องของการเพิ่มหน่วยงานศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ให้เป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับภาระหน้าท่ีของเขตพื้นท่ีการศึกษา เพิ่มขั้นตอนให้กับการปฏิบัติหน้าท่ี และยังต้องใช้งบประมาณมหาศาล มีการตัดอัตรากำลังข้าราชการครูของ สพฐ ไปเป็นอัตรากำลังของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงยิ่งทำให้ครูขาดแคลนมากยิ่งขึ้นนับว่าเป็นการบริหารจัดการที่ประสบความล้มเหลวและมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้งบประมาณเรื่องคูปองพัฒนาครูคนละหนึ่งหมื่นบาทต่อปีนั้น ก็เป็นการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกปีละหลายพันล้านบาทแต่ไม่คุ้มค่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงคือบรรดาบริษัททั้งหลายที่มาให้บริการ
ทั้งนี้ ส.บ.ม.ท.ได้รับการร้องเรียนจากบรรดาข้าราชการครูจำนวนมากว่าอยากให้ยกเลิกโครงการนี้เพราะเป็นการสิ้นเปลือง ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ควรนำงบประมาณนี้ไปจัดสรรในเรื่องของการพัฒนาครูในรูปแบบอื่นที่ตรงตามความต้องการของครู นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนกล่าวหาว่าโครงการนี้น่าจะมีการดำเนินการที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจหลายคนในกระทรวงศึกษาธิการ มีการส่งคนของตนเองไปทำหน้าท่ีในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเรื่องนี้ทั้งๆที่หมดหน้าท่ีที่ต้องทำแล้ว
ส.บ.ม.ท.จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวว่าเหมาะสมที่จะให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ นายรัชชัยย์ฯยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรใช้บทบาทของตนในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนามากกว่าที่จะใช้บทบาทในเรื่องของการจัดการและการใช้อำนาจ
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)