“สมพงษ์” ชี้สวนกระแสโลก แบ่งชนชั้นในสังคม ผิดเจตนารมณ์การศึกษา
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบ่งกลุ่มการรับนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นโรงเรียนที่รับเด็กจากทั่วประเทศด้วยการสอบ 100% โดยไม่กำหนดเขตพื้นที่บริการหรือไม่มีโควตาเด็กพื้นที่บริการ เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่ผลิตและพัฒนาเด็กที่มีศักยภาพให้เป็นเด็กเก่งของประเทศ และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่รับเด็กในเขตพื้นที่บริการเหมือนในปัจจุบันนั้น ว่า อยากให้ กพฐ.และ สพฐ. คิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะกระแสของโลกทุกวันนี้เราลดความสำคัญของการสอบลง และเปลี่ยนค่านิยมลดการสอบเช่น ประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์ แต่แนวคิดดังกล่าวของ กพฐ. กลับผิดทิศผิดทางและสวนทางกับกระแสโลก ทั้งการให้โรงเรียนดีเด่นดัง สอบแบบ 100% จะทำให้เกิดการติวเพื่อสอบเพื่อแย่งที่นั่งเข้าเรียนกันอย่างรุนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน อีกทั้งยังสวนทางกับนโยบายการเร่งยกระดับคุณภาพโรงเรียนในชนบทให้สูงขึ้น เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพและอยู่ใกล้บ้าน
“การดึงเด็กหัวกะทิมารวมอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ผมมองว่าจะได้ประโยชน์เพียงด้านเดียว แต่จะยิ่งเกิดการแย่งที่นั่งเรียนกันเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกคนก็ต้องการเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งกลุ่มที่มีศักยภาพ และมีฐานะทางการเงินดีก็จะยิ่งได้เปรียบ ส่วนโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดเล็กก็จะยิ่งถูกทอดทิ้ง ทำให้ช่องว่างทางคุณภาพก็จะยิ่งกว้างขึ้นไปอีก เป็นการแบ่งชนชั้นของคนในสังคมด้วยระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และความจริงแล้วเด็กเก่งควรได้เรียนในโรงเรียนที่มีเด็กที่มีศักยภาพที่หลากหลาย เด็กเก่งจะได้รู้จักการช่วยเหลือแบ่งปันเพื่อนที่เรียนอ่อนกว่า การดึงเด็กเก่งๆมาอยู่รวมกัน นอกจากจะทำให้เด็กเก่งแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายแล้ว ยังเป็นการทำลายลักษณะการอยู่ร่วมกันของสังคมที่ต้องการการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ หากเด็กไม่รู้จักการช่วยเหลือคนอื่นตั้งแต่ในโรงเรียน ก็ถือว่าผิดเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษา ดังนั้น ทางที่ดี กพฐ.ควรเร่งส่งเสริมคุณภาพโรงเรียนดีประจำตำบลให้เกิดผลและขยายจำนวนให้มากขึ้นน่าจะดีกว่า” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 21 พ.ค. 2562