สกสค.ระดมความเห็นบริษัทประกันชีวิต กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์การประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.
วันนี้(16 พ.ค.)นายอรรถพล ตรึกตรอง ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมธรรม์ประกันสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) เริ่มทยอยครบกำหนดสัญญาระยะ 9 ปี ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้ สกสค.ไปหารือร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อหาบริษัทประกันที่ครูจะได้รับประโยชน์สูงสุด นั้น จากการหารือของคณะกรรมการร่วมระหว่างธนาคารออมสินและสกสค. โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ร่วมเป็นที่ปรึกษา ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์การประกันที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้กู้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ซึ่งจากการประชุมที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส จึงได้เชิญบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิต มาร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ทีโออาร์ที่กำหนดขึ้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร มีอะไรต้องปรับปรุงบ้าง
“เท่าที่ฟังนอกรอบมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมามีความย้อนแย้งอยู่บ้าง เพราะมีทั้งเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการประกันชีวิตและเกณฑ์ที่ใช้สำหรับประกันภัยปนกันอยู่ ซึ่งในทางปฏิบัติน่าจะเป็นไปไม่ได้ คณะกรรมการร่วมจึงเห็นว่าจะต้องเชิญบริษัทที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ 4 ด้านมาหารือ คือ 1.บริษัทที่มีทรัพย์สินรวมไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาทและส่วนของเจ้าของไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท 2.บริษัทที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 140 3.บริษัทที่มีอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัยไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 และ 4.บริษัทที่ผลประกอบการมีกำไร 3 ปีติดต่อกัน โดยบริษัทที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ข้อ มีทั้งสิ้น 13 บริษัท โดยขณะนี้บริษัทส่วนใหญ่ได้ตอบรับที่จะมาร่วมแสดงความเห็นในวันที่ 18 พ.ค.นี้แล้ว ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะได้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำประกันสินเชื่อของเพื่อนครูมากที่สุด”นายอรรถพลกล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2562