เปิดมติ ครม.หลังตีตก “ร่าง พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ” ฉบับ กอปศ.-กฤษฎีกา คณะ 8 ที่เห็นพ้องคง “ครูใหญ่” ที่มีความหมายใหญ่มากกว่าผู้อำนวยการโรงเรียน ย้ำให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เผยส่งกลับกฤษฎีกา ส่อดองยาวให้พิจารณาทบทวนเหตุความจำเป็นที่ต้องตราเป็นพระราชกำหนด พร้อมให้รับฟังความเห็นกลุ่มองค์กรวิชาชีพครูทุกองค์กร โดยเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาก่อนนำเข้ารัฐสภา
วันนี้ (12 พ.ค.) มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาร่างพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าว เป็นร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... แล้ว
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 8 (กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬา) ที่มีนายเกษม สุวรรณกุล ประธานกรรมการ ได้ดำเนินการแก้ไขบันทึกหลักการและเหตุผลให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อยให้ถูกต้องขึ้น
ล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 8 พ.ค. มีใจความว่า ตามที่แจ้งว่า ได้นำร่างพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายนั้น
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งความเห็นของกลุ่มองค์กรวิชาชีพครูต่างๆ เกี่ยวกับร่างพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...มาเพื่อดำเนินการ โดย ครม.มีมติให้ชะลอการดำเนินการร่างพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับร่างพระราชกำหนดดังกล่าว ไปพิจารณาทบทวนเหตุความจำเป็นที่ต้องตราเป็นพระราชกำหนด และให้ฟังความเห็นของกลุ่มองค์กรวิชาชีพครูต่างๆ ไปพิจารณาด้วย โดยเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป”
ก่อนหน้านี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เพิ่งลาออก เพื่อไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ครม.มีมติชัดเจนว่าจะไม่มีการออกเป็น พ.ร.ก. เพราะยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องรอรัฐบาลหน้ามาพิจารณา และเสนอให้สภาให้ความเห็นชอบ ส่วนรัฐบาลหน้าจะรับลูกหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ
“ผมอยากแจ้งให้ทราบชัดเจนว่า รัฐบาลนี้จะไม่ออกกฎหมายการศึกษาแห่งชาติเป็น พ.ร.ก. ใครที่ออกคัดค้านจะได้ไม่ต้องออกมาประท้วง เพราะต้องรอให้รัฐบาลหน้าพิจารณา เสนอเข้าสภาฯ ตามขั้นตอน ส่วนจะรับลูกต่อหรือไม่นั้น ผมก็ตอบไม่ได้ คงต้องไปถามรัฐบาลหน้า”
สำหรับร่าง พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับที่ถูกตีตกไปนั้น มีหลักการว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะจะทำให้เกิด “คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ” ที่จะดูแลการศึกษาในภาพรวมทั้งประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ถูกปรับบทบาทหน้าที่ไปเป็นสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
ขณะที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายฯ จะไม่ยึดติดกับระบบราชการเหมือนที่ผ่านมา แต่จะต้องมีความคล่องตัวและมีความเข้มแข็งในเรื่องระบบข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายทางการศึกษาที่เหมาะสม รวมถึงจะต้องมีการปรับแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดรับกับร่าง พ.ร.ก.การศึกษาฯ ด้วย ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกหลังพ.ร.ก.การศึกษาฯ ประกาศใช้ กอปศ.จะทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายฯ ชั่วคราวไปพลางก่อน โดยยังคงหลักการและความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา
“ให้ความสำคัญ และคืนศรัทธาและยกย่องครูอย่างแท้จริง เป็นการเปลี่ยนจากระบบบริหารไปเป็น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญคือ โรงเรียน ไม่ใช่ระบบบริหาร ที่เหมือนกับการบริหารธุรกิจ แต่ต้องเป็นเรื่องของความรับผิดชอบโรงเรียน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของนักเรียน ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นสอดคล้องกับ กอปศ.ว่าต้องใช้คำว่า “ครูใหญ่” ที่มีความหมายใหญ่มากกว่าผู้อำนวยการโรงเรียน และมีความสำคัญจริงต่อประสิทธิผลทางการเรียนของเด็ก
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก MGR Online วันที่ 12 พ.ค. 2562