นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ มีสาระว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องของการคืนศรัทธาให้ครู ไม่ใช่ครูเป็นลูกน้องผู้บริหาร เปลี่ยนจากระบบบริหารไปเป็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน หัวใจสำคัญของโรงเรียนไม่ใช่ระบบบริหาร และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นสอดคล้องกับ กอปศ ว่า ต้องใช้คำว่าครูใหญ่ที่มีความหมายมากกว่าผู้อำนวยการโรงเรียน นั้น เห็นว่าถ้าคุณหมอจรัสฯ มีความคิดเห็นเช่นนี้จริงย่อมหมายถึงว่าคุณหมอกำลังหลงทางในการปฏิรูปการศึกษาเพราะปัญหาการศึกษาของประเทศขณะนี้มิได้มีต้นเหตุมาจากการละเลยหรือความไม่ใส่ใจของผู้บริหาร แต่สาเหตุเกิดมาจากการจัดการศึกษาในระดับนโยบายที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่เคยเป็นครู ไม่เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียน เป็นบุคคลที่มีอัตตาสูงไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของครู มีมุมมองที่เป็นลบต่อผู้ประกอบวิชาชีพครู ไม่ยอมรับให้ครูมีส่วนร่วมในการวางแผนบริหารจัดการด้านการศึกษาทั้งๆที่ครูเป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง ไม่เคยมีความคิดที่จะปฏิรูปหลักสูตรและระบบการเรียนรู้ให้เป็นรูปธรรมและทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
การที่คุณหมอจรัสฯไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารโดยคุณหมอกล่าวว่า “เปลี่ยนจากระบบบริหารเป็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน” นั้น ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ขอเรียนไปถึงคุณหมอจรัสฯว่า การดำเนินการใดๆที่มุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากการบริหารทั้งสิ้น มีองค์กรใดบ้างที่ประสบความสำเร็จโดยการไม่ให้ความสำคัญต่อระบบบริหารและผู้บริหารองค์กร การจัดการศึกษาในโรงเรียนไม่เหมือนกับการบริหารจัดการโรงพยาบาล เพราะในระบบโรงพยาบาลนั้นความสำเร็จอยู่ที่การรักษาคนไข้ให้หายป่วยโดยอาศัยความรู้และความเก่งของคุณหมอ บทบาทของผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่มีต่อคนไข้จึงมีความสัมพันธ์กันน้อยมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการผลิตหมอ การดูแลใส่ใจหมอ แต่ในระบบโรงเรียนนั้นมิได้คาดหวังเพียงแค่คุณครูสอนเก่งสอนให้เด็กมีความรู้เท่านั้นแต่โรงเรียนมีหน้าที่ดูแลนักเรียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีหน้าที่สร้างนักเรียนให้เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ของสังคม ต้องดูแลไปถึงครัวเรือนของนักเรียน เรื่องเช่นนี้จึงต้องอาศัยผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้วางระบบ วางแผนการสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะทางวิชาการและทักษะทางสังคมของนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียนมีหน้าที่ต้องเกี่ยวข้องกับ ครู ผู้เรียนและผู้ปกครองโดยตรงเพื่อช่วยกันพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ที่สำคัญคือผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการรุ่นเก่าๆได้วางแนวคิดให้กับบรรดาผู้บริหารโรงเรียนไว้นานแล้วว่าคุณครูคือผู้ร่วมงานที่สำคัญไม่ใช่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา และได้ถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้ จึงอยากให้คุณหมอจรัสฯได้กรุณาเข้าใจแนวคิดเรื่องนี้ด้วย
ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากคุณหมอได้ทราบถึงภารกิจอย่างแท้จริงของผู้บริหารโรงเรียนแล้วก็คงไม่กำหนดหลักเกณฑ์และออกเป็นกฎหมายที่เป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจครูเช่นนี้ การที่คุณหมอจรัสฯยังได้ให้ข้อมูลว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นสอดคล้องกับ กอปศ.ว่าต้องใช้คำว่าครูใหญ่ที่มีความหมายมากกว่าผู้อำนวยการโรงเรียนและมีความสำคัญจริงต่อประสิทธิผลทางการเรียนของเด็ก” นั้น เรื่องนี้คุณครูทั้งประเทศต่างสงสัยว่าเรื่องแบบนี้ทำไมคุณหมอจรัสฯไม่ถามความเห็นของคุณครูแต่กลับไปถามความเห็นของนักกฎหมายที่มิได้มีความเข้าใจและไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาแต่อย่างใด
“ผมอยากจะกราบเรียนถามคุณหมอจรัสฯว่าในการทำประชาพิจารณ์ทุกภูมิภาคนั้น ทำไมคุณหมอจรัสฯถึงไม่หยิบยกเอาประเด็นเรื่องการเปลี่ยนจากใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู การเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่เคยเป็นครูก็สามารถเป็นช่วยครูใหญ่ได้และการเปลี่ยนคำเรียกขานจากผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นครูใหญ่ ขึ้นเป็นประเด็นในการทำประชาพิจารณ์ การหมกเม็ดเช่นนี้ย่อมทำให้คุณครูทั้งประเทศเกิดความสงสัยและเชื่อโดยสนิทใจว่าสิ่งที่จะตามมาโดยผลของกฎหมายคือเกียรติภูมิของครูจะค่อยๆลดหายไป สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เคยได้ทัดเทียมกับข้าราชการอื่นก็จะหายไป คุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนก็จะลดลงเพราะผู้ช่วยครูใหญ่ที่ไม่เคยเป็นครูย่อมไม่สามารถนำครูในด้านต่างๆได้ ผมขอกราบเรียนคุณหมออีกประเด็นหนึ่งว่าประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงการบริหารประเทศซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีว่า กฎหมายใดๆที่จะมีผลกระทบต่อบุคคลและกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชาติ จะต้องผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ เว้นแต่บางเรื่องที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารคือรัฐบาลออกกฎหมายโดยพลันไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยให้มีการตราเป็นพระราชกำหนดและมีผลบังคับใช้ แต่การจะทำเช่นนี้ได้นั้นต้องเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่เกิดปัจจุบันทันด่วนหากไม่รีบออกกฎหมายโดยเร็วแล้วจะทำให้ชาติบ้านเมืองต้องเสื่อมสลายพังพินาศ เช่นกำลังเกิดศึกสงครามหรือกำลังเกิดภัยพิบัติทางเศรษฐกิจอย่างแรง ขอถามว่ากฎหมายการศึกษาฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นต้องให้มีผลบังคับใช้ทันทีโดยการตราเป็นพระราชกำหนดเลยหรือ ทำไมคุณหมอจรัสฯจึงไม่ทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ” นายรัชชัยย์ฯ กล่าวในที่สุด