30 เม.ย.62 - นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (National Test: NT) ปีการศึกษา 2561 ซึ่งการสอบ NT เป็นการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียน 3 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านการคิดคำนวณ และด้านเหตุผล ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่ร่วมเข้าสอบ จำนวน 26,960 โรง มีนักเรียนผู้เข้าสอบ จำนวน 497,718 คน สำหรับภาพรวมของคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ NT พบว่าในส่วนของ สพฐ.มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกด้าน คือ ด้านภาษา ปีการศึกษา 2560 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 51.94 ปีการศึกษา 2561 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 52.73 ด้านคำนวณ ปีการศึกษา 2560 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 38.38 ปีการศึกษา 2561 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 47.89 และ ด้านเหตุผล ปีการศึกษา 2560 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 44.98 ปีการศึกษา 2561 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 47.57
เลขาสพฐ.กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ถือเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกันทั้งในระดับป.3 ที่คะแนนเฉลี่ย NT เพิ่มขึ้น ระดับป.6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ที่คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ก็เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การทดสอบ NT ทั้ง 3 ด้าน ยึดตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) แต่ในปีหน้าการสอบ PISA จะมีการประเมินเรื่องความคิดสร้างสรรค์ด้วย ดังนั้น สพฐ.จะต้องเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสมรรถนะเหล่านี้ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ สพฐ.ได้ตั้งเป้าหมายที่จะต้องยกระดับคะแนนเฉลี่ยของทดสอบ NT ให้ถึงร้อยละ 50 อีกทั้งจะมีการวิเคราะห์ผลคะแนนเฉลี่ยทั้งโอเน็ต และ NT โดยแบ่งแยกโรงเรียนเป็นรายกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรงเรียนในพื้นที่สูง โรงเรียนชายแดนภาคใต้ เป็นต้น เพื่อที่จะชี้ให้เห็นจุดเฉพาะและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด”เลขาฯ กพฐ.กล่าวและว่า สำหรับคะแนนเฉลี่ยด้านเหตุผลที่ในปีการศึกษา 2559 สูง ถึงร้อยละ 52.62 นั้น อาจจะเป็นเรื่องของกรอบโครงสร้างของข้อสอบที่แต่ละปีจะวัดด้านแตกต่างกันและเน้นเรื่องการทำข้อสอบแบบอัตนัย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง