กอปศ.ได้แต่รับฟัง ครูค้าน พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ “หมอจรัส”ชี้คนค้านเพราะไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกกฎหมาย
วันนี้(23 เม.ย.)ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มครูออกมาคัดค้านการออก พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ ว่า กอปศ.ยินดีรับฟังความเห็นเหล่านั้น แต่กฎหมายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะปรับเป็น พ.ร.ก.ได้มีการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว แม้จะออกมาคัดค้าน กอปศ.ก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะ กอปศ.ได้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา รวมถึงผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลไปแล้ว อย่างไรก็ตามคิดว่าการที่ครูออกมาคัดค้านอาจเกิดจากความไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของ กอปศ.ที่เน้นเรื่องของความเป็นครู ให้ศรัทธาความเป็นครู ยกย่องครู ไม่ใช่ยกย่องการบริหาร แต่สังคมที่เปลี่ยนจากการเป็นครูหรือครูใหญ่แล้วเป็นผู้บริหาร เลยทำให้ผู้บริหารมีความสำคัญกว่าครูใหญ่ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นเหมือนการเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกที่เน้นการบริหารสมัยใหม่ บริหารการเงิน บริหารคนจนไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาที่แท้จริง ทำนองเดียวกันกับใบประกอบวิชาชีพครูเหมือนกับว่าครูเป็นวิชาชีพแล้วต้องใช้สิ่งนี้เป็นอาชีพของตัวเอง
“จริง ๆ แล้ว ตอนพิจารณาเรื่องนี้ กอปศ.ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณความเป็นครู เพราะฉะนั้นการรับรองความเป็นครู จะมีระดับสูงกว่าใบประกอบวิชาชีพครู แทนที่จะเป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จึงเป็นการรับรองความเป็นครู ซึ่งมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าไม่ใช่แค่รับใบอนุญาตแล้วมาทำหน้าที่เป็นครู แต่มีความหมายมากกว่านั้น ครูเป็นเหมือนบุพการีของนักเรียนที่มีความตั้งใจสอนนักเรียน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อยู่ที่การตีความหมาย การที่กฤษฎีกาปรับจากใบประกอบวิชาชีพมาเป็นการรับรองความเป็นครู เราก็เห็นด้วย เพราะมันตรงกับเจตนารมณ์ว่า เป็นการคืนศรัทธาให้แก่ครูยกย่องครูจริง ๆ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ กอปศ.เสนอไปให้ความสำคัญและยกย่องความเป็นครูไม่ใช่ยกย่องเรื่องการบริหาร” ศ.นพ.จรัสกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ครูออกมาคัดค้านมีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ ศ.นพ.จรัส กล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ถามกัน คือ เงินวิทยฐานะจะหายไปหรือไม่ คำตอบก็คือแม้จะเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง แต่ทุกอย่างก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ในอนาคตคนที่จะได้วิทยฐานะใหม่ จะต้องได้ด้วยความดีและการทำงาน ไม่ใช่การทำเอกสาร ซึ่งในร่างพ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติจะไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ เพราะรายละเอียด วิธีการต่าง ๆ ต้องไปอยู่ในระเบียบหรือกฎหมายลูกที่จะออกให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่ต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 23 เมษายน 2562