บอร์ด กพฐ. หนุนเดินตามแผนควบรวมโรงเรียนยกระดับคุณภาพ หลังธนาคารโลก ระบุ คุณภาพของการศึกษาไทยถดถอยลง ขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กระดับประถมศึกษา การขาดแคลนครูเป็นสาเหตุหลัก
รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กพฐ.เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้นำสรุปรายงานผลการศึกษาโครงการทบทวนรายจ่ายด้านการศึกษา ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)ได้มอบให้ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก( The World Bank)เป็นที่ปรึกษามาหารือ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า ค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างมากแต่ทักษะของผู้เรียนกลับมีแนวโน้มลดลง โดยคุณภาพของการศึกษาถดถอยลง มีการขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยเกิดในโรงเรียนขนาดเล็กระดับประถมศึกษา และการขาดแคลนครูเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ
ประธาน กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาคุณภาพของเด็กและการขาดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณได้ คือ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ควบรวมโรงเรียนตามแผนและนโยบายที่กำหนด ซึ่งจะสามารถลดจำนวนโรงเรียนจาก 30,506 โรง เหลือ 17,766 โรง ห้องเรียนจาก 344,009 ห้อง เหลือ 259,561 ห้อง ขนาดห้องเรียนในระดับประถมศึกษาเฉลี่ยจะเพิมขึ้นจาก 14 คน เป็น 24 คน เหมาะสมให้ใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนที่รวบรวมมาได้อย่างคุ้มค่า เป็นการเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียน และครูก็จะลดลงจากเดิมที่มีครูประมาณ 475,717 คน เหลือเพียง 373,620 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการลดจำนวนโรงเรียนประถมศึกษาลง จาก 20,990 แห่ง เหลือ8,382 แห่ง หากทำได้ตามโมเดลดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างมหาศาล และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายงบฯจากรัฐได้มากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ที่ประชุม กพฐ.เห็นว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวเรื่องใดที่บอร์ด กพฐ.จะช่วยสนับสนุนให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้บอร์ด กพฐ.ก็จะให้การสนับสนุน.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2562