ตามท่ี นายแพทย์อุดม คชินทร รมช.ศธ. ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเสร็จสิ้นแล้วและนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม พิจารณาหาทางที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ให้ประกาศใช้ในรูปแบบพระราชกำหนดก่อนเนื่องจากขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้งดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายแล้วทำให้กฎหมายที่รอการพิจารณาต้องยุติไป นั้น นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เห็นว่าเรื่องนี้ขอวิงวอนให้รัฐบาลกรุณาพิจารณาให้รอบคอบเพราะ
1. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะเกี่ยวพันกับการพัฒนาคนของประเทศ แต่กระทรวงศึกษาธิการกลับส่งบุคคลซึ่งซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารสถานศึกษาทั้งในฐานะรองผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่มีคุณวุฒิหรือความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมาย เป็นตัวแทนของข้าราชการครูและผู้บริหารโรงเรียนทั้งประเทศไปร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าว จึงอาจทำให้ขาดความรอบคอบในการพิจารณาจนเกิดประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาในอนาคตเพราะประสบการณ์และวิสัยทัศน์ของตัวแทนอาจมีน้อยเกินกว่าที่จะปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้ลุล่วงได้
2. สาระในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้มีปัญหาและไม่เป็นที่ยอมรับของบรรดาผู้อำนวยการและข้าราชการครูเกือบทั้งประเทศ ดังนี้คือ
- การกำหนดให้บุคคลที่จะมาทำหน้าท่ีเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องเคยเป็นครูมาก่อนนั้นถือว่าเป็นอันตรายต่อการจัดการศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ ในสายบริหารสถานศึกษา นั้นหากไม่เคยเป็นครูมาก่อนย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจในสภาพของการจัดการเรียนการสอน สภาพและพฤติกรรมของนักเรียน ไม่เข้าใจในแนวคิดปรัชญาในการจัดทำหลักสูตร ที่สำคัญคือบุคคลเหล่านี้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนในโอกาสต่อไป ย่อมจะเกิดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแน่นอน
- การปรับเปลี่ยน "ใบประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบรับรองความเป็นครู" โดยไม่มีการอธิบายเหตุผลให้สังคมได้ทราบว่าเปลี่ยนแปลงเพราะอะไรนั้น ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้เพราะวิชาชีพครูได้รับการยอมรับว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง เนื่องจากมีหน้าที่ต้องพัฒนาคุณภาพบุคคลในทุกๆด้าน ดังนั้นบุคคลที่จะมาประกอบวิชาชีพครูได้ต้องได้รับการศึกษาอบรมเฉพาะทาง ไม่ใช่มีเพียงความรู้ทางวิชาการก็จะมาจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ คนที่จะมาประกอบวิชาชีพครูได้จึงจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูซึ่งได้มีการกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญไว้มากมาย การเปลี่ยนแปลงจาก "ใบประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบรับรองความเป็นครู" โดยไม่สามารถอธิบายเหตุผลให้สังคมได้เข้าใจได้ ว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร จึงเชื่อว่าเป็นการดำเนินการที่อาจมีการหมดเม็ดอันจะทำให้ครูทั้งประเทศเสียสิทธิประโยชน์ที่พึงได้หรือเคยได้รับมาแล้วหลายประการ และอาจเป็นยกเลิกการคัดกรองบุคคลที่จะมาประกอบวิชาชีพครู อันจะส่งผลเสียหายต่อการศึกษาของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง
- ปัจจุบันหน่วยงานราชการเกือบทุกแห่งได้พยายามปรับเปลี่ยนตำแหน่งและพัฒนาให้บุคคลากรในสังกัดให้เป็นตำแหน่ง "ผู้อำนวยการ" เพื่อให้เจ้าหน้าท่ีมีขวัญกำลังใจและเป็นเส้นทางแห่งความก้าวหน้า เช่น หัวหน้าสถานีอนามัยประจำตำบล ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็น ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลประจำตำบล แต่ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้กลับปรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนให้เป็น ตำแหน่ง ครูใหญ่ โดยอ้างถึงจิตวิญญาณของความเป็นครู ทั้งๆที่ตำแหน่งครูใหญ่ นั้นในอดีตที่ผ่านมาเป็นตำแหน่งขั้นต้นของบุคคลที่เพิ่งเข้าสู่การเป็นผู้บริหารโรงเรียน และเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น มีผลงานมากขึ้นจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน สำหรับบุคคลากรที่ทำหน้าท่ีเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในปัจจุบันนั้นต่างมีจิตวิญญาณความเป็นครูทั้งสิ้นเพราะทุกท่านต่างเคยประกอบวิชาชีพครูมาก่อน การปรับเปลี่ยนตำแหน่งจากผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นครูใหญ่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บรรดาผู้อำนวยการโรงเรียนต่างเกิดความรู้สึกท้อใจต่อการกระทำของผู้มีอำนาจที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรและความรู้สึกของครูอันจะส่งผลต่อกำลังใจในการที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 172 บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" เมื่อพิเคราะห์จากสาระที่บัญญัติไว้ใน รธน. มาตรา 172 ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายบริหารจะหาทางเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินี้ให้ประกาศใช้ในรูปแบบพระราชกำหนดนั้น อยากทราบว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร มีเงื่อนไขใดที่เป็นไปตามที่มีการบัญญัติไว้ใน รธน มาตรา 172 ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ถึงขั้นจะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ นี้ประกาศใช้ในรูปแบบพระราชกำหนดแต่อย่างใด ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งขาติ ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ
"ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ร่างในยุคสมัยรัฐบาล คสช ซึ่งอยู่ในอำนาจเผด็จการ และเป็นร่างกฎหมายด้านการศึกษาที่บรรดาข้าราชการครูไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาทั้งๆที่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี การที่มีการกล่าวอ้างว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วนั้น อยากให้ผู้มีอำนาจสอบถามจากบรรดาคุณครูทั้งประเทศว่าคุณครูส่วนใหญ่ได้ล่วงรู้ในกระบวนการที่มีการอ้างว่าได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วหรือไม่แค่ไหนอย่างไร หากยังมีการดึงดันที่จะให้มีการออกเป็นพระราชกำหนด ทั้งๆที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ผมจะเชิญชวนให้บรรดาข้าราชการครูทั้งประเทศไม่ยินดีต้อนรับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ในรัฐบาลนี้ และผมจะยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนพระราชกำหนดดังกล่าว" นายรัชชัยย์ ฯ กล่าวในที่สุด
Advertisement
-ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯมอบ"วิษณุ"หาทางประกาศใช้พรบ.ศึกษาชาติในรูปแบบพระราชกำหนด
17เม.ย.62-นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... เสร็จเรียบร้อยและเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยที่ประชุม ครม. ได้มีมติการรับทราบร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาหาแนวทางที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ประกาศใช้ในรูปแบบพระราชกำหนดก่อน เนื่องจาก ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้งดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายแล้ว ทำให้กฎหมายที่รอการพิจารณาต้องยุติไป
“ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ยืนยันชัดเจนว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษามาก เพราะมีการวางกรอบการยกคุณภาพการศึกษาทั้งระบบใหม่ ทั้งยัง มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ผมคิดว่ารองนายกฯ จะมีการประชุมหารือ เพื่อหาเหตุผลที่เหมาะสมในการเสนอกฎหมายดังกล่าว ออกเป็นพระราชกำหนด ผมคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้”รมช.ศธ.กล่าว
นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สำหรับกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น เพื่อเป็นการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสม และเป็นธรรม คือ ให้ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนจำนวนร้อยละ 8 นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีข้อมูลผู้ที่จะได้รับการเยียวยาอยู่แล้ว โดยตนเข้าใจว่าน่าจะมีประมาณ 2-3 พันคน และจะต้องเร่งดำเนินการเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณ ส่วนจะมีการเยียวยาย้อนหลังไปก้วยหรือไม่นั้น คงต้องมีการพิจารณา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 17 เมษายน 2562