อาจารย์จุฬาฯแนะคิดรอบด้านก่อนคลอด พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ หวั่นอนาคตขัดแย้ง ด้าน “หมออุดม” ยืนยันเป็นเรื่องจำเป็นต้องเร่งประกาศใช้ หลักการใหญ่ผ่านประชาพิจารณ์แล้ว
วันนี้ (18 เม.ย.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีการผลักดันให้เร่งดำเนินการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้ทันภายในรัฐบาลนี้ โดยออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ว่า การเร่งดำเนินการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ให้ทันภายในรัฐบาลนี้ถือเป็นเรื่องดี แต่หากเร่งรีบมากเกินไป อาจเป็นผลเสียระยะยาว ซึ่ง ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ยังมีคำถามและความเห็นที่ไม่ตรงกันในหลายมาตรา หากเร่งดำเนินการ โดยยังมีความเห็นที่แตกต่าง ในอนาคตอาจกลายเป็นปัญหาระยะยาว
“การออกเป็นพระราชกำหนดต้องมีความรอบคอบ มีความเห็นที่เป็นฉันทามติร่วมกันของทุกฝ่าย แต่ขณะนี้หลายมาตราในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ เพราะยังมีคำถามและเป็นปัญหา อาทิ กำหนดให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็น ครูใหญ่ และผู้ช่วยครูใหญ่ , การเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู เป็นต้น ดังนั้นเรื่องนี้ผมอยากให้มองรอบด้าน ด้านหนึ่งจำเป็นต้องเร่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าไปได้ เพราะกฎหมายลูกบางส่วนประกาศใช้แล้ว แต่หากเร่งดำเนินการแล้วอาจจะเกิดความขัดแย้งในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ควรชะลอไว้ก่อน แม้รอประกาศใช้ในรัฐบาลหน้าก็ไม่สาย” ศ.ดร. สมพงษ์ กล่าว
ด้าน ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบแล้วให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นพระราชกำหนด ซึ่งที่ผ่านมาทั้งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีความสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ประกาศใช้ เบื้องต้นคิดว่า ทันภายในรัฐบาลนี้ ส่วนข้อกฎหมายในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ยังมีความขัดแย้งอยู่นั้น มีเพียงส่วนน้อย แต่หลักการส่วนใหญ่ที่มีความสำคัญ ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ และเห็นพ้องร่วมกันหมดแล้ว ดังนั้นก็ควรเดินหน้าต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2562