“สุเทพ” มั่นใจเปิดทางจบสาขาวิชาชีพเป็นครูได้ไม่ต้องมีใบอนุญาตฯ ไม่กระทบการสอนคนจบครูโดยตรง ชี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทำงานภาครัฐ แก้ขาดครู และมาเพิ่มเติมวิชาครูให้ภายหลังได้ ขณะที่การสอบครูผู้ช่วยอาชีวะที่เลื่อนประกาศปฏิทินออกไปเบื้องต้นอาจเปิดรับสมัครพร้อมครูผู้ช่วย สพฐ.
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงการสอบคัดเลือกและแข่งขัน ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประจำปี 2562 ว่า ขณะนี้ได้เลื่อนการประกาศกำหนดปฏิทินจากเดิมจะประกาศในเดือนเม.ย.นี้ออกไปก่อน และได้มอบให้ผู้เกี่ยวข้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะให้ไปดูว่าปฏิทินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีขึ้นเมื่อไร เบื้องต้นตนมีแนวคิดว่าอยากให้การรับสมัครครูผู้ช่วยอาชีวะคราวนี้ อยากให้ดำเนินการพร้อมกับของ สพฐ.เพื่อจะได้จำนวนไม่มากเกินควร
ดร.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มีความห่วงใยว่ากรณีที่จะมีการยกร่างประกาศคุรุสภา ยกเว้นครูที่สอนในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ หรือ ครูช่างไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอาจจะส่งผลทำให้ไม่สนใจเรียนครุศาสตร์อุตสาหกรรม สามารถไปเรียนสาขาอื่น ๆ แทนเพราะจบมาก็เป็นครูช่างได้นั้น ตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาต้องยอมรับว่ามีครูบรรจุเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งการขอยกเว้นใบอนุญาตฯสำหรับครูช่าง เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจเลือกมาทำงานในภาครัฐ เพราะความจริงแล้วถ้าเขาเรียนจบไปทำงานกับบริษัทเอกชนเขาได้รับเงินเดือน 40,000-50,000 บาท แต่มาทำงานกับภาครัฐเริ่มที่ 15,000 บาท อย่างการสอบคัดเลือกและแข่งขันครูผู้ช่วย สอศ.ก็มีการปรับเสนอขอยกเว้นขอยกเว้นสาขาขาดแคลนบรรจุเป็นครูผู้ช่วยโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน 98 สาขา เพราะมีความจำเป็นและคนไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม แม้จะยกเว้นให้กับครูช่าง แต่ครูที่สอนวิชาสามัญยังต้องมีใบอนุญาตฯเหมือนเดิม
“เราต้องยอมรับว่าครูไม่พอขณะที่คนเรียนจบสาขาช่างก็มีมาก ต้องหาแรงจูงใจเขามาทำงานในภาครัฐ และในความจริงความเป็นครูทุกวันนี้เปลี่ยนไป นอกจากครูที่จบจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังต้องแสวงหาครูจากสถานประกอบการเข้ามาช่วยในการสอน เพราะเขามีประสบการณ์จากการทำงานจริง ขณะเดียวกันก็มาเพิ่มเติมและสร้างวิชาครู แนวการสอน จิตวิญญาณความเป็นครูให้ครูช่างเหล่านี้ภายหลังได้ อย่างปีที่ผ่านมา สอศ.ได้มีการอบรมครูพิเศษจากสถานประกอบการ 1,200 คนให้มีความรู้ทางวิชาครูประโยชน์ในการสอนก็ช่วยได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มทร.ผลิตครูได้ดี ตรงนี้อาชีวะก็มองว่าเรามาช่วยกันผลิตครู โดยเอาผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพนั้นเป็นการใช้ทรัพยากรในประเทศมาช่วยกัน”ดร.สุเทพ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก MGR Online วันที่ 16 เมษายน 2562