ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการติดตามการปฏิรูปการศึกษา 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบว่าภายหลังการปฏิวัติ เรามีแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาอย่างชัดเจน เป็นการเริ่มต้นที่มีความหวังว่าจะไม่เสียของ แต่ 5 ปีผ่านไป กลับพบว่าเรากลับมาที่จุดเดิม ไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ก็มีนโยบายการศึกษาที่กลับมาจุดเดิม เช่น เรียนฟรี หนี้ครู ครูงานล้น คืนครูกลับห้องเรียน การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการศึกษา เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดิม และผลการเลือกตั้งก็คาดการณ์ได้ว่า ไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาล ก็จะยกเลิกสิ่งที่เคยทำมา และเริ่มต้นนโยบายใหม่ของตนเอง ทำให้การปฏิรูปเสียของ
“ผมขอเรียกร้องรัฐบาลใหม่ ขอให้ศึกษาบทเรียนจากอดีต ขอให้รัฐบาลใหม่กำหนดให้ชัดเจนว่า 100 วันแรกที่เข้าทำงานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทำงานการศึกษาเรื่องใดบ้าง ทั้งวางแผนการทำงานระยะสั้น 3-5 ปี ที่ทำได้จริง ขณะเดียวกันคนใน ศธ.ต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการศึกษา ข้าราชการทุกระดับทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อน วางนโยบายและมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนการศึกษา ไม่ใช่ผู้สั่งการ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 17 เม.ย. 2562