ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการ จี้ ตีความการนับเวลาปฏิบัติการสอน ของหลักสูตรครุศาสตร์และศึกกษาศาสตร์
วันนี้ (10 เม.ย.) นายดิเรก พรสีมา ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ยื่นหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการคุรุสภา เรื่องการตีความมาตรา 44 (ก) (3) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เนื่องจากการประชุม ส.ค.ศ.ท.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว แต่มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ สามารถนำเวลาที่นักศึกษาครูไปสังเกตการสอน หรือการไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู ระหว่างชั้นปี มานับเป็นส่วนหนึ่งของเวลาปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว แต่ในที่ประชุมก็มีผู้แสดงความเห็นว่าไม่สามารถนำเวลาที่นักศึกษาไปสังเกตการสอน หรือการไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูมานับเป็นการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้ตนเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาส่งความเห็นในเรื่องนี้ ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้ ว่ามีขอบเขตและความหมายว่าอย่างไร เพื่อที่สถาบันผลิตครูจะได้ใช้เป็นบรรทัดฐาน การปฏิบัติของสถาบันผลิตครูของประเทศต่อไป
“การที่ ส.ค.ศ.ท. เสนอให้มีการตีความในเรื่องนี้ เพราะมีข้อห่วงใย ว่า หากกรณีที่เด็กมาเรียนในหลักสูตรที่มีการนำเวลาที่นักศึกษาครูไปสังเกตการสอน หรือการไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู ระหว่างชั้นปี มานับเป็นส่วนหนึ่งของเวลาปฏิบัติการสอน และคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่สามารถนำมาร่วมนับได้ นักศึกษาคนดังกล่าวก็จะขาดคุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิสอบขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู อีกทั้งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเสนอหลักสูตรผลิตครู 4 ปีให้สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งพิจารณาบ้างแล้ว ดังนั้นผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องมีการตีความเรื่องนี้ให้ชัดเจน และรวดเร็ว เพราะเมื่อได้ข้อสรุปแล้วแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีระยะเวลาในการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ก่อนที่จะนำมาใช้ต่อไป”ประธาน ส.ค.ศ.ท. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 10 เมษายน 2562