“สุชัชวีร์” แนะครูยุคใหม่ต้องตอบ 3โจทย์ของเด็กได้ ตั้งทักษะการใช้ชีวิต การสร้างดีเอ็นเอการเรียนรู้ที่เข้าใจในหัวใจผู้เรียน และเปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วม นอกจากนี้ต้องทำหน้าที่เป็นโค้ช
วันนี้ (10 เม.ย.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เด็กสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้รอบตัว และในอนาคตอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นครูที่ใกล้ชิดเด็กที่สุด ดังนั้นครูในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามา โดยเฉพาะการเข้าถึง เข้าใจนักศึกษา และให้คำปรึกษากับเด็กได้ทุกเรื่องทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และการใช้ชีวิต สำคัญที่สุดการให้นักศึกษาเข้าถึงคือ การเข้าไปเป็นเพื่อนกับเขา ลดช่องว่างระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์สู่การเป็นพี่น้อง ที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างเป็นกันเอง โดยครูทำหน้าที่เป็นโค้ชที่ใกล้ชิดนักศึกษามากขึ้น
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อไปว่า ครูจะต้องตอบโจทย์ 3 ความต้องการนักศึกษาให้ได้คือ
1. ทักษะการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลที่กูเกิลเป็นเสมือนปัจจัยที่ห้าของการใช้ชีวิต สามารถเป็นครูให้กับเด็ก ได้ ดังนั้นครูจำเป็นจะต้องมีทักษะมากกว่าการสอนในเชิงวิชาการ คือ การเป็นที่ปรึกษาทักษะชีวิตให้แก่เด็กได้
2. การสร้างดีเอ็นเอการเรียนรู้ที่เข้าใจในหัวใจผู้เรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สจล.เริ่มปรับตัวให้เข้ากับนักศึกษายุคใหม่ คือ การยอมรับความเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาสู่การพัฒนาตัวเอง กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และทดลองทำในสิ่งที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ การมีทักษะเหล่านี้จะทำให้คณาจารย์ของ สจล. ถ่ายทอดดีเอ็นเอการเรียนรู้สู่นักศึกษาอย่างเข้าใจและเข้าถึงพวกเขา อาจารย์เป็นโค้ช ที่ดีทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิต เป็นเพื่อน เป็นพี่ ที่สามารถให้คำปรึกษากับพวกเขาได้ และ
3. เปิดพื้นที่ครีเอทีฟ ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ ต้องมุ่งเน้นการคิดสร้างสรรค์และเน้นการทำงานเป็นทีม ที่พร้อมด้วยทักษะด้านวิชาการและทักษะด้านการใช้ชีวิต
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 10 เมษายน 2562