ชื่อเรื่อง รายงานผลการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 โดยใช้รูปแบบ TPS Model
ผู้ศึกษา นายสำเริง บุญโต ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33
หน่วยงาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2562
บทคัดย่อ
รายงานเรื่องผลการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 โดยใช้รูปแบบ TPS Model มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 และเพื่อรายงานผลการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาโดยใช้รูปแบบ TPS Model โดยกระบวนการศึกษาเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งพิจารณาจากผลการประเมินคุณภาพและคุณลักษณะ 3 ด้านคือ ด้านสถานศึกษา ด้านทีมบุคคลและด้านนักเรียน รายงานความสำเร็จตามรายละเอียดของงาน 3 ด้านคือ งานภารกิจ งานนโยบาย และงานเชิงพื้นที่ และความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 โดยใช้รูปแบบ TPS Model กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 จำนวน 85 โรง เครื่องมือที่ใช้คือ คู่มือการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา และคู่มือดำเนินงานระดับสถานศึกษาและแนวทางการประเมินความสำเร็จตามรูปแบบ TPS Model การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสอบถาม สัมภาษณ์ และสังเคราะห์เอกสารผลงาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
1. การบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 โดยใช้รูปแบบ TPS Model ที่พัฒนาขึ้น อาศัยแนวคิดการบริหารเชิงระบบคือ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต โดยแต่ละองค์ประกอบจะมี 3 ส่วนย่อย ดังนี้ ด้านปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย 3 ทีม ได้แก่ ทีมบุคลากรในสำนักงาน ทีมผู้บริหารโรงเรียน และทีมครู ด้านกระบวนการ ประกอบด้วยการบริหาร การนิเทศติดตาม และการเรียนการสอน ที่เชื่อมโยงกับภารกิจงานและการมีส่วนร่วมจาก ทุกภาคส่วน และด้านผลผลิต เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบด้วยคุณภาพของโรงเรียนและทีมบุคคล และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน โดยยืนยันรูปแบบการบริหารจัดการคุณภาพที่พัฒนาขึ้นว่า มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาโดยใช้รูปแบบ TPS Model พบว่า
2.1 ค่าเฉลี่ยผลการประเมินคุณภาพด้านสถานศึกษาเท่ากับ 4.51 ด้านทีมบุคคล เท่ากับ 3.72 (ได้แก่ ทีมบุคลากรในสำนักงาน เท่ากับ 3.70 ทีมผู้บริหารโรงเรียน เท่ากับ 3.87 และ ทีมครู เท่ากับ 3.59) และด้านนักเรียน เท่ากับ 3.30
2.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 มีผลงานและประสพความสำเร็จระดับชาติและนานาชาติ ที่เป็นไปตามภาระงานทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ งานภารกิจ งานนโยบายและงานเชิงพื้นที่
2.3 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 โดยใช้รูปแบบ TPS Model อยู่ในระดับมากที่สุด