เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 1 เม.ย. 2562 ที่ห้องประชุมเพชร สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดการประชุมการจัดเตรียมแสดงผลงาน Best Practice ในงาน “พลิกครูไทย สร้างเด็กไทย 4.0” และการจัดตั้งเครือข่ายพัฒนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่เป็นฐาน จ.ศรีสะเกษ เพื่อเตรียมเด็กและเยาวชนของ จ.ศรีสะเกษ เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN) และการพัฒนาเด็ก เยาวชน เพื่อเตรียมเป็นแรงงานสู่สถานประกอบการ ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตามนโยบายพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ จ.ศรีสะเกษ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จ.ศรีสะเกษ จึงได้กำหนดให้มีโครงการยกระดับการศึกษาให้ได้มาตรฐานกิจกรรมฝึกทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร (สื่อภาษาอังกฤษ) ทั้งในระดับชั้นประถมศึกษาและระดับชั้นมัธยมศึกษาทุกสังกัด โดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการให้ จำนวน 17 ล้านบาท เพื่อจัดหาสื่อการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะแก่การพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียน และเพื่อพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ให้ตระหนักเห็นความสำคัญในการจัดการเรียนการสอน มีความรู้ มีทักษะ และเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) โดยสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ โดยมี ดร.อุดมศักดิ์ เพชรผา รองศึกษาธิการ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี ว่าที่ ร.ต.ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 พร้อมด้วย นายโชติ บุญทน รอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 นายวิทยา วิรารัตน์ คณะกรรมการหอการค้าไทย น.ส.พยัตติกา ห้วยจันทร์ ผอ.ร.ร.บ้านหนองนาเวียง คณะครู นักเรียน จาก สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 – 4 และ สพม.เขต 28 ให้การต้อนรับ
นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดเตรียมแสดงผลงาน Best Practice ในงาน “พลิกครูไทย สร้างเด็กไทย 4.0” และการจัดตั้งเครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่เป็นฐาน จ.ศรีสะเกษ ในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคุณภาพของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยใช้เครือข่ายพัฒนาการเรียนรู้เป็นฐานของ จ.ศรีสะเกษ เพราะปัจจุบันภาษาอังกฤษมีความสำคัญ และมีความจำเป็นเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน อีกทั้ง เป็นการพัฒนาและส่งเสริมการสร้างเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การส่งเสริมครูผู้สอนให้มีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงการให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างโรงเรียนในกลุ่ม จ.ศรีสะเกษ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้เป็นต้นแบบการดำเนินงานในระดับประเทศต่อไป
ทางด้าน นายวิทยา วิรารัตน์ กรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 17 ล้านบาท เพื่อ “พลิกครูไทย สร้างเด็กไทย 4.0” และจัดตั้งเครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่เป็นฐาน ซึ่งในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต เรื่องภาษาที่ 2 คือ ภาษาอังกฤษ ถ้าเราไม่รู้ภาษาอังกฤษ เราจะไปประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะเสียเปรียบเขา เขาฟังภาษาเราออก เพราะเขาดูทีวีเรา แต่เราไม่เคยฟังทีวีเขาเลย ยกตัวอย่าง ประเทศกัมพูชา เราไม่เคยฟังทีวีเขา ก็เลยพูดภาษากัมพูชาไม่ได้ แต่กัมพูชาฟังภาษาไทยได้ ก็เหมือนกับโปรแกรม DynED สื่อให้นักเรียนเข้าไปเรียน เข้าไปฟัง แล้วก็พูดตาม ฟังพูด ฟังพูด มันก็จะเข้าไปในสมอง จะออกเสียงเหมือนเจ้าของภาษาเลย นี่คือจุดดีของการเรียนโปรแกรม DynED เรียนติดต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง เด็กก็จะสื่อสารภาษาอังกฤษได้กับเจ้าของภาษาโดยตรง และโปรแกรมนี้ยังสามารถประเมินผลได้ด้วยว่า เข้าไปเรียนอาทิตย์ละกี่ชั่วโมง ได้เรียนมั๊ย โปรแกรมก็จะสามารถตรวจสอบได้