นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ ส.บ.ม.ท. และองค์กรครูทุกองค์กรของประเทศไทยได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการที่ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ) ได้นำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจากสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวหลายประเด็นเป็นปัญหาในทางปฏิบัติและมีผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาของชาติบ้านเมืองและอาจมีผลกระทบต่อข้าราชการครูทุกคนในเรื่องของวิทยะฐานะและค่าตอบแทนโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติปิดสมัยประชุมเสียก่อน นั้น บัดนี้ ส.บ.ม.ท.ได้รับทราบจากสื่อบางแห่งว่าขณะนี้ศาสตราจารย์นายแพทยอุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามที่จะผลักดันให้กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา โดยได้หารือกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยเหลือผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่มีปัญหานี้มีผลบังคับใช้และสื่อดังกล่าวยังระบุว่า ดร.วิษณุ เครืองาม บอกว่าจะหาแนวทางที่จะให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับได้ในรัฐบาลชุดนี้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0503/ว (ล) 10602 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2562 แจ้งเวียนไปที่ส่วนราชการต่างๆ มีสาระสำคัญความว่า "ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .....ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ไปปรับปรุงเป็นกฎหมายระดับพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ " นายรัชชัยย์ฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่าหากข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ส.บ.ม.ท.จะร่วมมือกับองค์กรครูอื่นทุกองค์กรคัดค้านการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เป็นปัญหาดังกล่าวเนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีสภาพเป็นเผด็จการกล่าวคือเป็นร่างกฎหมายที่คิดและร่างโดยบุคคลากรที่มิได้อยู่ในวิชาชีพครู ไม่เปิดโอกาสให้ครูได้มีส่วนร่วม
นอกจากนี้สาระสำคัญหลายประการของกฎหมายนี้ยังมีผลกระทบต่อการศึกษาของชาติบ้านเมืองมากมาย และการดำเนินการยังเป็นการขัดต่อมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า " ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนด ให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้" เห็นได้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่อยู่ในเงื่อนไขใดๆดังที่มีบัญญัติในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในอันที่จะประกาศใช้เป็นพระราชกำหนดได้แต่อย่างใด ที่สำคัญคือขณะนี้กำลังจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งดังนั้นโดยมารยาทแล้วควรให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาผ่านทางสภาผู้แทนราษฎรอันจะเป็นการพิจารณาที่รอบคอบเพราะกฎหมายการศึกษา เป็นแม่บทสำคัญในการสร้างคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป
"หากยังมีการดึงดันให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ ทั้งๆที่ไม่เป็นที่ยอมรับของข้าราชการครูส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ผมจะยื่นฟ้องผู้เกี่ยวข้องทุกรายในทุกช่องทางรวมถึงฟ้องเป็นคดีอาญา และจะเชิญชวนข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศขนานนามผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ว่า เป็น "บุคคลไม่พึงปรารถนาของวงการศึกษาไทย" และผมขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆช่วยกันกดดันมิให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เป็นปัญหานี้มีผลบังคับใช้ ต่อไป"นายรัชชัยย์ ฯกล่าวในที่สุด